นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงการติดตามการนำส่งเงินของทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ภายใต้ข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการให้องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียน นำทุนหรือกำไรเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1 พ.ศ. 2556 เพื่อนำเงินมาเสริมฐานะการคลัง และรองรับการนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ทุนหมุนเวียนที่นำส่งตามแผนปฏิบัติงานมีจำนวน 29 กองทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 28,081.15 ล้านบาท โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 มีหน่วยงานของรัฐเจ้าของทุนหมุนเวียนได้นำส่งเงินแล้ว จำนวน 17,177.10 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีทุนหมุนเวียนที่นำเงินสภาพคล่องส่วนเกินส่งคลังตามแผนปฏิบัติงานตามที่กรมบัญชีกลางได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วจำนวน 26 กองทุน เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 2,970 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ จำนวน 2,877.10 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ จำนวน 2,515.58 ล้านบาท กองทุนตั้งตัวได้ จำนวน 2,421.28 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 2,387.63 ล้านบาท กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จำนวน 1,588.10 ล้านบาท กองทุนสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จำนวน 600.57 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตวัคซีนจำหน่าย จำนวน 269.81 ล้านบาท และกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 268.02 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ มีเพียงทุนหมุนเวียนอีก 3 ทุน ที่ยังไม่ได้นำส่งเงิน รวมจำนวน 10,904.05 ล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินงานของกองทุนฯ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่ชัดเจนให้ทุนหมุนเวียนที่ยังไม่ได้นำส่งเงินให้เร่งดำเนินการส่งคืนคลังโดยเร็ว
"เจตนารมณ์ของกรมบัญชีกลางในการให้นำส่งเงินกองทุนต่างๆ ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นคืนคลังนั้น เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืนต่อไป" นายมนัส กล่าว