จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 28/2558 : การขอขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ, บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ, ทรูมูฟและดิจิตอลโฟนปฏิเสธการนำส่งรายได้ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ

อังคาร ๐๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๔:๕๑
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 18/2558 ที่เดิมกำหนดไว้ในวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2558 แต่ต่อมามีการแจ้งเลื่อนกระทันหันเป็นวันอังคารที่ 3 โดยในการประชุมครั้งนี้มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องผู้ประกอบกิจการขอขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมาตรการเยียวยาฯ เรื่อง บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีฐานภาคพื้นดินผ่านดาวเทียม และเรื่องที่ค้างพิจารณาจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือเรื่อง บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ขอให้ กทค. ทบทวนคำสั่ง พร้อมทั้งปฏิเสธการนำส่งรายได้ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ

วาระเรื่องผู้ประกอบกิจการขอขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ

วาระนี้สืบเนื่องจากมีผู้ประกอบกิจการ 3 รายมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 25/2558 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 มีมติกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ. เอไอเอส บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจทางด้านให้บริการระบบติดตามยานพาหนะจากดาวเทียม รวมทั้งในพื้นที่ห่างไกล เช่น ระบบท่อน้ำมัน ระบบสำรวจป่า เป็นต้น ซึ่งหากมีการยุติการให้บริการในวันดังกล่าว จะประสบปัญหาเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนซิมการ์ดหรือเปลี่ยนลูกข่ายได้ทัน

เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้เคยนำเสนอวาระลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในกรณีที่มีผู้ประกอบกิจการขอให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณามาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้น กทค. มีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอรับแนวนโยบายสำหรับปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกไปก็อาจสามารถขยายระยะเวลาได้เพียงไม่เกินวันที่ กทค. จะมีมติเห็นชอบการออกใบอนุญาตให้กับผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งคาดว่าไม่น่าเกิน 90 วันหลังที่ได้ผู้ชนะการประมูล

แต่ไม่ว่าในที่สุดจะมีการเปลี่ยนแปลงวันหยุดให้บริการหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือต้องมีการกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการที่ชัดเจนเป็นการล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 30 วัน เพื่อประกาศให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมตัวได้ทัน

เรื่อง บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีฐานภาคพื้นดินผ่านดาวเทียม

วาระนี้เป็นเรื่องของ บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อประกอบกิจการสถานีฐานภาคพื้นดินผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บมจ. ไทยคม ซึ่งถือหุ้นถึงร้อยละ 99.995 ของหุ้นทั้งหมด ดังนั้นในการพิจารณาให้ใบอนุญาต จึงต้องคำนึงถึงผลเรื่องการผูกขาดธุรกิจ ว่าจะเข้าลักษณะก่อให้เกิดการผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำหรือไม่ หรืออาจก่อให้เกิดการกีดกันการแข่งขัน ซึ่งหากพบว่าเข้าข่าย ก็เป็นหน้าที่ที่ กทค. อาจต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อกำกับดูแลและป้องกันการผูกขาด โดยอาศัยอำนาจตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสงสัยอีกด้วยว่า เมื่อครั้งที่ กทค. เคยออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคมไปโดยไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่นั้น กทค. ได้เคยชี้แจงต่อสังคมว่า ผู้ประกอบกิจการที่ภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือผู้ประกอบกิจการสถานีให้บริการ Up Link Down Link เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้ใช้ความถี่ในการรับส่งสัญญาณภายใต้ราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีประเด็นว่า ในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการในกรณีของ บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง นี้ จำเป็นต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้นด้วยหรือไม่

วาระเรื่อง บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ขอให้ กทค. ทบทวนคำสั่ง พร้อมทั้งปฏิเสธการนำส่งรายได้ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ

กรณีนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีมติให้ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟนนำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการนับตั้งแต่วันที่มีการใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ จนถึงวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่ (16 กันยายน 2556 – 17 กรกฎาคม 2557) เป็นจำนวนเงิน 1,069,983,638.11 บาท และ 627,636,136.87 บาท ตามลำดับ เพื่อที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป แต่ทั้งสองบริษัทมีหนังสือขอให้ กทค. ทบทวนคำสั่งและปฏิเสธการนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ หนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งของทั้งสองบริษัทระบุว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังไม่เคยมีโอกาสเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กทค. โดยตรง อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดวิธีการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยในส่วน บจ. ทรูมูฟ ระบุว่า การพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการคำนวณไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะต้นทุนหลักเป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้นแม้ยอดผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ยังมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ออกหาประโยชน์ จึงไม่ควรนำรายได้ส่วนนี้มาคำนวณ ขณะที่ บจ. ดิจิตอลโฟน ชี้แจงว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทประสบภาวะขาดทุนจากการให้บริการกว่า 450 ล้านบาท จึงไม่มีรายได้คงเหลือที่จะนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ได้

ในการพิจารณาวาระนี้ ที่ประชุม กทค. คงต้องพิจารณาว่าจะรับทบทวนคำสั่งทางปกครองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองบริษัทมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใหม่อะไรที่จะเสนอให้พิจารณาทบทวนมติหรือไม่ เพราะลำพังประเด็นที่โต้แย้งมาเกี่ยวกับรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐ ก็เป็นประเด็นเดิมที่เคยโต้แย้งมาแล้ว ซึ่งในกรณี บจ. ดิจิตอลโฟนไม่มีการนำส่งเอกสารหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จึงไม่น่ามีเหตุที่ กทค. ต้องพิจารณาทบทวนคำสั่ง ส่วน บจ. ทรูมูฟ มีการนำส่งเอกสารเพิ่มเติมจำนวนมาก ก็คงต้องใช้เวลาพิจารณาก่อนว่ามีส่วนของข้อเท็จจริงใหม่หรือไม่ หรือเป็นเอกสารหลักฐานที่บริษัทสามารถแสดงตั้งแต่ในชั้นการประชุมหารือกับคณะทำงานฯ แต่ไม่ได้นำส่ง ซึ่งหากเข้าข่ายลักษณะนี้ ก็ไม่สมควรพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองด้วยเช่นกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๕ FTI รับ 2 รางวัล จากกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2567
๑๔:๕๕ OKMD ร่วมกับ CMDF จัดประกวดประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน หนุนไอเดียเด็กมัธยม ต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม
๑๔:๓๐ แอลจีเผยเทรนด์ทำงานปี 2025 พร้อมเทคนิคใช้โน๊ตบุ๊กแบบสมาร์ทเวิร์กเกอร์
๑๔:๓๓ ทีเอ็มบีธนชาต สำรองธนบัตร 13,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
๑๔:๒๒ เจียไต๋แมน เมื่อรุ่นเดอะผนึกกำลังกับรุ่นใหม่ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
๑๔:๒๙ สุขภาพดีแบบไม่ต้องเดี๋ยว! รพ.วิมุต ชวนตรวจสุขภาพ - ปรับพฤติกรรมสไตล์คนไม่มีเวลาสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาวรับปีใหม่
๑๔:๕๐ HBA ส่องภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 68 เผชิญความท้าทายใหม่ เร่งงัดกลยุทธ์ฝ่าแข่งขันสูง รุกเจาะตลาดใหม่ 'รอจังหวะฟื้น'
๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี