นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ และน่าน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี จะมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง อันมีสาเหตุหลักเกิดจากเผาขยะเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่า เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน และอุสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ลดทัศนวิสัยการมองเห็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายบนท้องถนน ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาตอซัง ฟางข้าวและเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นานั้น เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปอาจดคาดคิดไม่ถึงว่าจะทำให้เกิดฝุ่นละอองเถ้าเขม่า ควันไฟและก๊าซหลายชนิด ฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่วในบริเวณกว้าง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้สูญเสียน้ำในดิน เนื้อดินจับตัวกันแน่นแข็ง สูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดิน เป็นการทำลายจุลินทรีย์ในดินตลอดจนไส้เดือนดินหรือแมลงที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินลดลง นอกจากนั้นตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืช เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน ที่อาศัยอยู่ในดินหรือตอซังพืช รวมทั้งจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมโรคพืชถูกทำลายไป ซึ่งหากระบบนิเวศน์ของดินไม่สมดุลจะทำให้การระบาดของโรคเกิดได้ง่ายขึ้น ส่งผลเสียต่อเกษตรกร ทำให้การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจได้ปริมาณผลผลิตที่ไม่ดี ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดิน จึงให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง ๑๐ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่างๆ ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรทราบถึงประโยชน์ของการงดเผาตอซัง ฟางข้าว แล้วใช้วิธีไถกลบลงดินแทน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นนวัตกรรมพื้นบ้านแบบง่าย ๆ ที่ได้ผลในการปรับปรุงโครงสร้างดินและบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.๒ ซึ่งข้อดีและผลของการหมักฟางในนาข้าวด้วยน้ำหมักชีวภาพ จะช่วยให้ตอซังอ่อนนิ่มย่อมสลายได้ง่ายขึ้น จะมีจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุที่ช่วยคืนชีวิตในพื้นดินได้ทันที ถ้าหากเกษตรกรมีการปลูกพืชปุ๋ยสดร่วมด้วย เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ปอเทือง ฯลฯ ในอัตรา ๕ กิโลกรัม/ไร่ ปลูกนานประมาณ ๔๕ - ๔๘ วันแล้วไถกลบลงดิน จะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุที่มีมวลชีวภาพสดประมาณ ๓ - ๕ ตัน/ไร่ ให้กับดินได้โดยตรง ทำให้ดินโปร่งร่วนซุยง่ายต่อการเตรียมดิน การระบายอากาศของดินมีเพิ่มมากขึ้น เป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารพืชและเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดินเป็นการหมุนเวียนธาตุอาหารพืชกลับคืนสู่ดิน มีผลให้การเจริญเติบโตและผลผลิตพืชมากขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีลงได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันนี้เกษตรกรควรงดเผาตอซัง ฟางข้าว เศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา แล้วใช้วิธีไถกลบร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด.๒ และปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน นอกจากการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าวเพื่อการไถกลบลงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยคลุมดินรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ได้อย่างดี ทั้งนี้ถ้าหากเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ วิธีการไถกลบตอซังฟาง ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มปริมาณผลผลิตให้มีคุณภาพ โดยมีต้นทุนต่ำ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือโทรสอบถามได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร.๐๒-๕๗๙-๒๘๗๕