(2 พฤศจิกายน 2558) พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) รวมทั้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, รองเลขาธิการ สอศ. และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมพิธีเปิดโครงการ "อาชีวะบริการ ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน" ณ. ศูนย์วัดบัวแก้วเกษร จังหวัดปทุมธานี
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับไปดำเนินการ โดยที่ทาง สอศ. ได้มีการนำเสนอโครงการอาชีวะบริการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เป็นโครงการพิเศษที่ใช้ศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งมีการประสานงานไปยัง ผู้บริหารวิทยาลัย ให้สานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันออกให้บริการประชาชนผ่านศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it center
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของโครงการ "อาชีวะบริการ ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน" จะเน้นซ่อมบำรุงเครื่องมือการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์การประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในครัวเรือน ระบบไฟฟ้า ประปาและสาธารณูปโภคอื่นๆในครัวเรือนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพื่อลดรายจ่ายในการซ่อม บำรุงและยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 14 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ ตลอดจนยังเป็นโอกาสดี ที่วิทยาลัยอาชีวะของรัฐบาลและเอกชน จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป
ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีการเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนพร้อมกัน 4 ศูนย์ และให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและพื้นที่ในการให้บริการ โดยได้รับการจัดสรรงบฯเพื่อใช้ดำเนินการโครงการอาชีวะบริการฯ 382 ล้านบาท ในวิทยาลัย 368 แห่ง จำนวน 2,000 ศูนย์ นอกจากจะช่วยบริการด้านการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงเครื่องมือแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการมีจิตอาสาของนักเรียน พร้อมทักษะในวิชาชีพที่เข้มข้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการเรียนรู้แบบบูรณาการ(Work Integrated Learning : WIL)
ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มต้นในเดือน พ.ย.58 โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.58 ตามมาตรการฯ ของรัฐบาล และมีการกำชับให้ดูแลเรื่องการปลอดภัยระหว่างการ ปฏิบัติงานด้วย เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ปกครองคลายกังวลและมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นผลดีทั้งกับการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ และที่สำคัญคือ เกิดประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาอย่างยิ่ง ที่จะได้มีโอกาสทดลองปฏิบัติงานจริง ทั้งยังเป็นการปฏิบัติงานที่เป็นเกียรติเพราะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีกด้วย