นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย และในพื้นที่รับผิดชอบยังมีแนวโน้มสูงมากขึ้น ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 30 ต.ค.58 พบผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 102,761 ราย เสียชีวิต 102 ราย และในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ และจ.มุกดาหาร พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 8,720 ราย เสียชีวิต 10 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.อุบลราชธานี 4,155 ราย รองลงมาคือ จ.ศรีสะเกษ 2,818 ราย และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดี
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ1.ระวังอย่าให้มียุง เริ่มต้นที่บ้านของตนเอง โดยทำบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ปิดภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นวิธีที่ดีและยั่งยืนที่สุด เพราะยุงลายใช้เวลาวางไข่เป็นลูกน้ำแล้วเป็นยุง ใช้เวลาเพียง5-7 วันเท่านั้น 2.ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลายชอบกัดเวลากลางวันและเป็นยุงที่มักอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องนอนในมุ้งหรือทายากันยุงทั้งขณะพักฟื้นอยู่ที่บ้านหรือ รักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่น ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากภาคราชการทุกหน่วยงาน ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชน ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเน้นที่บ้านทุกหลัง โรงเรียน วัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและหน่วยงานราชการ ในการสำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้มาตรการ 5 ป. ติดต่อกันทุกสัปดาห์จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
"กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หากป่วยจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องรักษาอาการที่เกิดจากโรคไข้ เลือดออกและโรคประจำตัวด้วย ดังนั้น หากมีไข้สูงลอยปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึม ให้สงสัยว่าป่วยโรคไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา อย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้อย่างแรง เช่น ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต" ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422./นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย