กลไก JCM พัฒนาขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยมีการประเมินอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนต่อการลดการปล่อยหรือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศพัฒนาแล้วในเชิงปริมาณ ผ่านทางการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา และใช้ปริมาณการลดการปล่อยหรือการดูดซับเหล่านั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนต่อวัตถุประสงค์สูงสุดของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเร่งการดำเนินงานลดการปล่อยหรือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของโลก
ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี กลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) นี้ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนความรู้ทางด้านเทคนิคและ/หรืองบประมาณบางส่วน ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของมูลค่าโครงการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยโครงการที่ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในปี ๒๕๕๘ มีจำนวนทั้งสิ้น ๔ โครงการได้แก่ ๑. โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในโรงงานทอผ้า โดยใช้เครื่องทอผ้าประหยัดพลังงาน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๖๔๖ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
๒. โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๗๙๘ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ๓. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศและตู้แช่เย็นในร้านสะดวกซื้อ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๖,๐๐๐ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ ๔. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงงานผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๗๗๒ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ รวม ๘,๒๐๐ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เงินลงทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้สนับสนุนภาคเอกชนไทย ประมาณ ๔๓๕ ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด ๑,๑๕๖ ล้านบาทที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ภายหลังจากการลงนามจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทย ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการร่วม และจัดตั้งสำนักเลขาธิการกลไก Joint Crediting Mechanism (Thailand JCM Secretariat) ขึ้นในประเทศไทย โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการกลไก JCM เพื่อดำเนินงานดังกล่าวต่อไป
ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๘ มีประเทศกำลังพัฒนาลงนามความร่วมมือในกลไกนี้แล้วทั้งสิ้น ๑๕ ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย บังคลาเทศ เอธิโอเปีย เคนยา มัลดีฟส์ เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย คอสตาริกา ปาเลา กัมพูชา เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย ชิลี และพม่า โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศลำดับที่ ๑๖ ที่จะลงนามการจัดทำความร่วมมือทวิภาคี Joint Crediting Mechanism (JCM) ในครั้งนี้