การจัดสัมมนาเรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2559...โอกาส และความท้าทาย มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบถึงแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในปี 2559 ตลอดจน ภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะการลงทุน สถานการณ์ด้านพลังงาน ที่อาจส่งผลกะทบต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจจากความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่อาจละเลยได้ คือ อนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 นี้
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ได้ดำเนินมาถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับปัจจัยบั่นทอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวยังไม่สม่ำเสมอกลับต้องเผชิญปัจจัยลบจากการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา การร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความผันผวนในตลาดการเงิน ได้ส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหดตัวต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตภายในประเทศได้ซบเซาลงตามความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่อ่อนแอจากผลกระทบของราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงและกินเวลายาวนาน และหนี้ภาครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับแรงส่งที่ต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท โดยผ่านการใช้จ่ายในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งไปกว่านั้น เม็ดเงินจากการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดชายแดนและในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการลงทุนตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระยะ 8 ปี ที่น่าจะลงสู่ระบบได้มากขึ้น ประกอบกับ ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดเอเชีย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มว่าจะแข็งแกร่งขึ้นกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากการที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2559
นายพิภพ โชควัฒนา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ไม่แข็งแกร่ง เนื่องด้วยความซบเซาของภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกให้ตกต่ำลงด้วย ด้านอุปสงค์ภายในประเทศเองก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคซบเซาลงอย่างมาก การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวจากการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนภาคการผลิตยังชะลอตัวต่อเนื่องทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ยังได้แรงส่งที่ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นวงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาวะการจับจ่ายใช้สอยในปี 2558 นี้ให้คล่องตัวมากขึ้น พร้อมกับเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2559 ต่อไป
นายพิภพ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานวิชาการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับหลากหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งที่เอื้ออำนวยและไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในสิ้นปี 2558
สำหรับเศรษฐกิจในปี 2559 จะมีทิศทางอย่างไร เป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆ ท่าน และเพื่อตอบคำถามดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้จัดการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง "อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2559...โอกาส และความท้าทาย" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน
โดยมี รศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการเสวนาดังกล่าว