วิกฤตเบาหวานโลก-เบาหวานไทย ภัยเงียบคุกคามคุณภาพชีวิต

จันทร์ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๖:๑๕
หากจะกล่าวว่า 'เบาหวาน' เป็นโรคร้ายแรงที่คุกคามสุขภาพ และทำลายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดได้มาก ก็คงจะดูไม่เกินจริงนัก เพราะโรคนี้นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนที่อันตรายจนนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้แล้ว ยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องดูแลใกล้ชิดอีกด้วย ในด้านเศรษฐกิจยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนทั่วประเทศสูงถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีแนวโน้มของผู้ป่วยเบาหวานสูงขึ้นเรื่อยๆ

รศ.นพ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข้อมูลสถานการณ์เบาหวาน เนื่องในวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน 2558 จัดโดย บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ว่าสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะคนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญ ทั้งที่โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และยังก่อให้เกิดภาระในการดูแลรักษาค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นเบาหวานสูงถึงร้อยละ 8 หรือประมาณ 4 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งอันตรายของโรคนี้คือ เมื่อรู้ตัวช้าก็ทำให้เสียโอกาสในการรักษา และยังทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย เช่น โรคหัวใจ ตาบอด ไตวาย หรือต้องตัดอวัยวะ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันพัฒนาการของการรักษาโรคเบาหวานจะรุดหน้าไปรวดเร็วมาก แต่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคมก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเบาหวานนั้นป้องกันได้

โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 เกิดจากการที่ร่างกายทำลายเซลล์ตัวเองที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินโดยอาศัยปฏิกิริยาอิมมูน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้มักพบในวัยเด็กและผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ป่วยจะต้องการอินซูลินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด และชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่มีผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ และอินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสเข้าเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่าเกิดการดื้ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี เบาหวานชนิดนี้ยังมีความสัมพันธ์กับการมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนด้วย และยังพบว่าปัจจุบันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ เริ่มพบมากขึ้นในเด็กที่อ้วน วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย

ด้าน พลตรีแพทย์หญิงยุพิน เบ็ญจสุรัตน์วงศ์ กรรมการบริหาราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้สามารถควบคุมเบาหวานและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานเพื่อป้องกันมิให้ป่วยเป็นเบาหวาน ว่าการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายถือเป็นหลักสำคัญ ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานและกลุ่มผู้มีความเสี่ยง โดยในผู้ป่วยเบาหวานนั้น ควรมีการตรวจและควบคุมปริมาณน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในเรื่องการรับประทานอาหารนั้น หากผู้ป่วยรู้หลักและเข้าใจก็สามารถจะรับประทานอาหารได้เป็นปกติแทบจะทุกชนิด โดยได้ยกตัวอย่างของหลักการกินอยู่ให้เป็น คือกินอย่างเหมาะสม โดยเลือกรับประทานผักให้มากขึ้นประมาณ 2 ทัพพีต่อวัน ส่วนผลไม้ควรหลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานมากหรือมีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ส้ม กล้วยน้ำว้า ขนุน ทุเรียน ข้าวโพด เป็นต้น หากต้องการรับประทานก็ให้รับประทานในปริมาณน้อย และไปลดปริมาณการบริโภคในมื้อต่อไปลง ส่วนในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานนั้นก็ควรเลือกรับประทานผักให้มากขึ้น และเลือกรับประทานผลไม้ตามความเหมาะสมเช่นกัน นอกจากนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้มากขึ้น โดยควรระวังไม่ให้ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะอ้วน และจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตามหากค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ซึ่งถือเป็นภาวะน้ำหนักเกิน ก็ยังมีความเสี่ยงเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึง 20 เท่า ส่วนในผู้ที่สูบบุหรี่นั้นจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึงร้อยละ 50 ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง และ 1 ใน 4 ของอุบัติการณ์โรคเบาหวานนั้น เกิดจากการไม่ออกกำลังกาย ที่น่าตกใจคือ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานนั้นไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วยเป็นโรคเบาหวาน

สำหรับอาการแสดงของโรคเบาหวานนั้น สังเกตว่าผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย หิวบ่อย และสายตาพร่ามัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ก็อาจเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น หัวใจวาย ตาบอด ไตวาย ถูกตาขาหรือเท้า เป็นต้น

นายมิไฮ คอนสแตนติน อีริเมสซู ผู้จัดการทั่วไป บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำในการคิดค้นนวัตกรรมการดูแลรักษาโรคเบาหวานมานานกว่า 90 ปี จากประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วันเบาหวานโลกจะเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันพัฒนากระบวนการคัดกรอง ตรวจรักษา การบริหารจัดการและการป้องกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และขอชื่นชมกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับโรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่าย และคาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้าถึงนวัตกรรมหรือตัวยาที่จะตอบโจทย์ในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โรคเบาหวานถือเป็นวิกฤตสุขภาพระดับโลกในปัจจุบัน เนื่องจากก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานรวมกันมากถึง 415 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี ค.ศ.2040 โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานสูงสุด 10 อันดับแรก เรียงตามลำดับ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก อินโดนีเซีย อียิปต์ ญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

สถานการณ์โรคเบาหวานจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากโรคนี้นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่สูงด้วย จนทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน ดังสุนทรพจน์ของ Margaret Chan ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ที่กล่าวว่า

"ถ้าเราไม่จัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากโรคเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดก็ไม่สามารถแบกรับได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ