1. โครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน งบ 3,212.960 ล้านบาท
2. โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร งบ 254.280 ล้านบาท
3. โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) งบ 36,275 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเงินหมุนเวียนในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตกระจายออกไปทุกจังหวัดและลงพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศที่สามารถเบิกจ่ายได้เร็ว เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนในการพยุงเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวต่อไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งมีโครงการมากกว่า ๑๑๘,๔๐๐ โครงการ โดยในขณะนี้งบประมาณดังกล่าวได้เริ่มจัดสรรลงไปดำเนินการในพื้นที่แล้ว
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการให้การสนับสนุนการป้องกันและเฝ้าระวังมิให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยเห็นว่าสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน่วยงานในภูมิภาค คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทุกจังหวัด เป็นหน่วยงานในพื้นที่ เข้าไปร่วมติดตาม ตรวจสอบและสังเกตการณ์โครงการดังกล่าว ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน และเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (MOU) ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557เพื่อส่งเสริมความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมมือและประสานงานกันทั้งในระดับกระทรวงและระดับจังหวัด เพื่อหาแนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดการทุจริตในโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีนโยบายและกำหนดแนวทางให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทุกจังหวัด ดำเนินการดังนี้
1. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดช่วยกันติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณตามแผนงาน/โครงการ ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แจ้งข้อมูลเบาะแสการทุจริต ซึ่งเป็นการป้องกันการทุจริตในเชิงรุกของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
2. จัดตั้งทีมตรวจสังเกตการณ์การใช้เงินงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลในแต่ละจังหวัด
โดยการตรวจสังเกตการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นการสุ่มตรวจโครงการต่างๆ ในพื้นที่ภายในจังหวัด และการ สุ่มตรวจสังเกตการณ์นี้ มิได้มีเจตนาที่จะจ้องจับผิดการดำเนินงานในโครงการตามมาตรการดังกล่าว และปราศจากทัศนคติในเชิงลบ หรืออคติใดๆ ในหน่วยงานหรือองค์กร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ว่าจะกระทำการทุจริต และไม่ได้ตรวจเพื่อเป็นการรับรองหรือรับประกันว่าโครงการดังกล่าว มิได้มีการทุจริต หรือดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว แต่เป็นการตรวจสังเกตการณ์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ เกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามมาตรการดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดความโปร่งใส คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ แต่หากว่าการตรวจสังเกตการณ์นี้ ตรวจพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น สำนักงาน ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจะรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการ รวมทั้งจะรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่เพียงแต่สำนักงาน ป.ป.ช. และกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ที่จะร่วมมือกันป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดจากการดำเนินการโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลนี้ หากแต่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน และประชาชนทุกคน ที่จะต้องร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต และแจ้งเบาะแส หากพบเห็นการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการนี้ มายังสำนักงาน ป.ป.ช. และกระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ต่อไป