ผศ. ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า เหตุการณ์การก่อการร้ายในปารีสดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรซึ่งจะทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอีก ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง สายการบิน ธุรกิจท่าอากาศยาน ต้นทุนในการเดินทางและประกอบธุรกิจจะปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยูโรโซน และ เศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด โอกาสที่เศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะกระเตื้องขึ้นจากปีที่แล้วก็มีความเป็นไปได้ลดลง เดิมคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศสในปีนี้และปีหน้าจะอยู่ที่ 1.2% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งน่าจะปรับลดลงแน่นอน ส่วนผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว สายการบินของไทยคงมีระดับหนึ่งแต่ไม่น่าจะมาก แต่จะกระทบต่อฐานะทางการเงินของการบินไทยซึ่งย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมาให้ทรุดตัวลงไปอีก การขาดทุนในระดับสูงกว่า 20,000 ล้านในปีนี้ของการบินไทยมีความเป็นไปได้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาพยุงฐานะของการบินไทยเพื่อให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และ การปลดคนออกจากงานควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการลดค่าใช้จ่ายและรักษากิจการเอาไว้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับว่าชาติตะวันตกสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่และสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางไหน หากปัจจัยนี้ลุกลามและทำให้พื้นที่สงครามในซีเรียและอิรักขยายวงอาจมีผลทำให้อุปทานน้ำมันลดลง จะพลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้ในระยะสั้น การก่อการร้ายในปารีสจะเป็นการเปิดทางให้ชาติตะวันตกสร้างความชอบธรรมในการใช้ปฏิบัติการทางการทหารเพิ่มเติมในพื้นที่ซีเรียและอิรักที่อยู่ภายใต้การยึดครองของ ISIS นอกจากนี้จะเกิดโรค Islamophobia โรคหวาดระแวงคนอิสลาม นำไปสู่ Islamophobic Hate Crimes การก่ออาชญากรรมต่อชาวมุสลิมผู้รักสันติจากความเกลียดชัง ทุกๆครั้งที่มีเหตุการณ์น่าสลดเช่นนี้ ก็จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสันติสุขของสังคม ฉะนั้นผู้มีอำนาจรัฐในทุกประเทศต้องบังคบใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยด้วยการสร้างกระแสแห่งความรักความเข้าใจซึ่งกันและกันแทนที่ความเกลียดชังและหวาดระแวง ด้วยการเคารพในสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเท่าเทียมบนความแตกต่างหลากหลายทางด้านอารยธรรมและความศรัทธาความเชื่อ หากเกิดกระแสความหวาดกลัว การแบ่งแยกทางสังคม เกิดกระแสอคติระหว่างเชื้อชาติและศาสนา เท่ากับ ขบวนการก่อการร้ายชนะแล้ว เราต้องช่วยกันไม่ให้เกิดกระแสแตกแยกเหล่านี้
นาย อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปในฐานะ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ว่า หากเราทำลายหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนเท่ากับเราส่งเสริมลัทธิก่อการร้าย เราต้องเอาชนะขบวนการก่อการร้ายด้วยการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ทำให้ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย กลายเป็น การก่อการร้ายซ่อนรูปหรือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการก่อการร้าย และต้องแก้ไปที่รากเหง้าของปัญหา คือ ต้องทำให้ระบบของโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้นหรือมี "โลกาภิบาล" (Global Good Governance) นั่นเอง