นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน กล่าวว่าในอดีตเรื่องของการศึกษาเรามักจะแยกส่วนการพัฒนาออกไปโดยเข้าใจว่าเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่เรียกว่าต่างคนต่างทำ ปัญหาที่ตามมาก็คือการพัฒนาการศึกษาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
"เวทีในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้บุคลากรด้านการศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดได้มาร่วมกันระดมข้อคิดเห็นในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนของเราต่อไปอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการศึกษาที่ต่อจากนี้จะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน หรือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านการศึกษาเท่านั้น ซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงสภาพปัญหาต่างๆ ของการศึกษาจังหวัดน่านที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้ จะทำให้คณะกรรมการศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้ฯ สามารถกำหนดแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ รวมไปถึงมาตรการ เป้าหมาย งบประมาณ ในการทำงานได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น"
นายสมเพ็ชร สิทธิชัย คณะกรรมการศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน เปิดเผยว่าข้อสรุปที่ได้จากเวทีในครั้งนี้ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่า นับจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาของท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมพลังการทำงานของศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่านได้มากขึ้น
"แนวทางการทำงานต่อจากนี้คณะกรรมการฯ จังหวัดน่านจะลงทำงานในระดับพื้นที่ โดยจะเลือกพื้นที่นำร่องซึ่งอาจจะเป็นระดับหมู่บ้านหรือตำบล เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และการจัดการศึกษา ด้วยการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศในเชิงลึก และจัดสรรงบประมาณ เครื่องมือต่างๆ ลงไปแก้ปัญหา โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กด้อยโอกาสเป็นสำคัญ"
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. ระบุว่าแนวทางการจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาปัจจุบันนั้น มีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ใน 3 ประเด็นคือ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาออกไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ และทำให้การศึกษาเกิดความหลายหลายในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
"นับจากนี้การศึกษาจะไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัด ซึ่งตอนนี้มีหลายจังหวัดที่ สสค. ให้การสนับสนุน ที่ไม่รอการแก้ไขปรับรื้อในเชิงโครงสร้างระดับประเทศ แต่ลงมือทำไปแล้ว ซึ่งเริ่มทำในระดับตำบล ระดับอำเภอนำร่องกันไปก่อน โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรลงไปช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานในเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น ซึ่งการทำงานเชิงพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้เกิดการศึกษาเพื่อชีวิต เป็นการศึกษาเพื่อคนทุกเพศวัย ที่มีความหลากหลายทางการเรียนรู้ โดยสิ่งสำคัญก็คือการศึกษาจะต้องสร้างคนให้กับพื้นที่และสร้างคนให้กับท้องถิ่น"