นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่าทุกวันนี้เราเชื่อกันว่าการเรียนจบปริญญาตรีจะทำให้ลูกหลานของเรามีงานทำมีหน้ามีตา ทุกคนจึงพยายามให้ลูกเรียนสายสามัญโดยหาทุกวิถีทางให้สอบเข้าในโรงเรียนดีๆ เพื่อที่จะได้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ แต่เราไม่เคยที่จะสร้างความตระหนัก สร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกหลานของเราเมื่อจบปริญญาไปแล้วจะมีงานทำมากน้อยเพียงใด และคิดว่าการเรียนสายอาชีวะมันเป็นทางตันของลูกหลาน วันนี้จึงมีคนจบปริญญาตรีจำนวนมากที่ตกงานและเป็นภาระครอบครัว
"สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกหลานของคนภูเก็ตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่อยู่ในระบบสายสามัญตลอด ในสายอาชีวะก็ทำได้และมีความก้าวหน้าไม่น้อยไปกว่ากัน หรือในวันนี้อาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เราจึงควรปล่อยให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเขา ใช้จินตนาการ ความชอบ ความถนัด ให้เขาเดินไปสู่ในทิศทางที่ต้องการ ไม่ใช่การปลูกฝังให้เขาไปในทิศทางที่พ่อแม่ต้องการ แล้วเราก็จะเห็นว่าลูกหลานของเรานั้นมีความสามารถสูงกว่าทุกคนคาดหวังไว้เยอะ เวทีวันนี้จึงเป็นการช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อให้ลูกหลานของเราเดินเข้าไปสู่โลกของการทำงานอย่างมีความสุข โดยการสร้างคนตงห่อ ที่มีค่านิยม 10 ประการอันเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่ชาวภูเก็ตสอนลูกหลาน เพื่อให้เด็กภูเก็ตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และเป็นที่ต้องการของเจ้าของกิจการต่างๆ"
ดร.ประสงค์ สังขะไชย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. ระบุว่า การประชุมการศึกษาโลกครั้งล่าสุดที่ ประเทศเกาหลีใต้ ทุกประเทศมีเป้าหมายตรงกันว่า จะต้องจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กมีทักษะในการทำงาน หรือเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกของการทำงานเพื่ออาชีพในอนาคตเพื่อให้โลกเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลการสำรวจของ สสค. พบว่าทุกวันนี้เด็กไทยเรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึง ร้อยละ 51 ซึ่งมากที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่มาเลเซียนนั้นเรียนต่อเพียงร้อยละ 32 ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
"การเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไปเร็วมาก ฉะนั้นการศึกษาต้องเตรียมความพร้อม และต้องมีจุดเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อสอบ ไปเป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กสู่โลกของการทำงาน ซึ่งจะทำให้เขาได้พัฒนาไปสู่อาชีพในบทบาทต่อไป วันนี้จังหวัดภูเก็ตได้บูรณาการแนวคิดและวิธีการร่วมกัน เพื่อพัฒนาโมเดลหรือระบบการแนะแนวเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นสู่โลกของการทำงาน ที่ตอบสนองโจทย์ด้านแรงงานและการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษบกิจของจังหวัด โดยตั้งเป้าแนะแนวให้ความรู้ ครู ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา และนักเรียน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ บูรณาการหลักคิดเชิงบวกในการตัดสินใจเพื่อเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญร่วมกัน โดยมีสถานประกอบการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการก้าวสู่โลกของการทำงาน ซึ่งระบบแนะแนวของภูเก็ตจะเป็นโมเดลนำร่องจังหวัดแรกของประเทศ เพื่อช่วยเหลือลูกหลานของคนภูเก็ตให้เดินได้ไปได้ตรงทิศทางและเตรียมความพร้อมสู่โลกของการทำงานที่มั่นคง"