นายวีรพล เจริญพานิช ผู้อำนวยการ ซินเจนทา ประเทศไทย กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงานประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติครั้งที่ 12 "อารักขาพืชเพื่ออาหารปลอดภัย เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน :Pragmatic Crop Protection for Food Safety and Sustainable Thai Economy" ที่จัดขึ้นโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งในงานดังกล่าว ซินเจนทาได้ นำเสนอรายงานความสำเร็จแผนการเติบโตเชิงบวกของซินเจนทา หรือ Good Growth Plan ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรทั่วโลกพร้อมๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ผ่านการแสวงหาความร่วมมือจาก ภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ หน่วยงานที่สนับสนุน และตัวเกษตรกร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้ 6 พันธสัญญาซินเจนทาสากล คือ
1.เพื่อเพิ่มศักยภาพผลผลิต โดยเฉลี่ยแก่พืชเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างน้อย 20% โดยไม่ต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูกไม่ใช้ทรัพยากรน้ำหรือปัจจัยการผลิตอื่นเพิ่มขึ้น
2.รักษาพื้นที่เพาะปลูกให้คงสภาพที่ดี ด้วยการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแก่พื้นที่เพาะปลูกก่อนที่จะเสื่อมโทรมให้ได้อย่างน้อย 62.5 ล้านไร่
3.เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการยกระดับความหลากหลายในพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ 31.2 ล้านไร่
4.เพิ่มความสามารถแก่ผู้เพาะปลูกรายย่อย 20 ล้านคนให้มีความสามารถในการเพิ่มผลผลิตอย่างน้อย 50%
5.พัฒนาให้เกิดความปลอดภัยอบรมผู้ทำงานในไร่นา 20 ล้านคนให้มีความรู้ความปลอดภัยในการทำงานโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
และ 6.ดูแลสวัสดิภาพของแรงงานปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมในทุกห่วงโซ่การผลิต
สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินโครงการ แผนการเติบโตเชิงบวกของซินเจนทา หรือ Good Growth Plan มาตั้งแต่ปี 2556 โดยเริ่มในพืชเศรษฐกิจหลักคือข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตส่งออกสำคัญของไทย ซินเจนทาได้ใช้วิธีการเลือกแปลงนาเกษตรกร โดยเข้าไปให้คำปรึกษา ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกตั้งแต่เริ่มต้น ในลักษณะแปลงเปรียบเทียบ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและเห็นความแตกต่างจากวิธีการเดิมที่เคยใช้มา โดยในพื้นที่ภาคเหนือมีแปลงทดลองของซินเจนทาอยู่ที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่อ.เสลาภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่สามารถเพิ่มผลผลิตในพื้นที่นาจำนวน 2 ไร่ให้ได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 15% แม้จะทดลองโครงการโกรมอร์ของซินเจนทาเป็นปีแรก สำหรับเกณฑ์การประเมินผลนั้นซินเจนทาได้มอบหมายให้ บริษัท Market Probe เข้าไปเก็บข้อมูลเพื่อความเป็นกลางและความโปร่งใสของข้อมูล ในการนำมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ผลปรากฏว่าในแปลงทดลองของเกษตรกรต้นแบบสามารถเพิ่มผลผลิตอย่างน้อย 15% เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ใช้วิธีปลูกแบบดั้งเดิม นอกจากนี้เกษตรกรยังเรียนรู้การใช้เครื่องมือและสารอารักขาพืชได้อย่างถูกต้อง ผลตรวจสุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากการใช้สารอารักขาพืชที่ถูกต้องเหมาะสม
"จากการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ร่วมกับหน่วยสนับสนุน ทั้งภาครัฐและครอปไลฟ์เอเชีย ทำให้ได้ข้อมูลแลกเปลี่ยนว่า ข้อจำกัดของเกษตรกรยังคงเป็นเรื่องของ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืชในกลุ่มต่างๆ ประกอบกับความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร เกษตรกรจะเลือกใช้สารอารักขาพืชก่อน โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของโรค แมลงและระยะเวลาการใช้ วิธีการใช้ และการทิ้งระยะเวลาใช้จนไปถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนถูกต้องจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว จะมีฉลากติดบอกวิธีการใช้ชัดเจน หรือแม้แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืชกลุ่มเดิมๆ ในพื้นที่เดิมๆ จะมีความเสี่ยงต่อการดื้อโรคและแมลงมากขึ้น แต่เกษตรกรที่ขาดความเข้าใจก็จะใช้ในปริมาณที่มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เกษตรกรต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้เหล่านี้กับเกษตรกรตลอดเวลา" นายวีรพลกล่าวเสริม
ความท้าทายที่ดูจะเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ ภาวะความมั่นคงทางด้านอาหารดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าทุก 1 วันจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นราว 3.7 แสนคน หรือปีละ 134 ล้านคนโดยเฉลี่ย และจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 7,500 – 10,500 ล้านคนในปี 2050 70% ของทรัพยากรน้ำจืดทั่วโลกถูกใช้ไปกับกิจกรรมทางการเกษตร ยังหมายรวมถึงทุกๆ 1 วินาที โลกสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกราว 1 สนามฟุตบอลไปให้กับที่อยู่อาศัยและกิจกรรมอื่นๆ ในขณะที่แรงงานภาคเกษตรเดินทางเข้าเมืองใหญ่มากขึ้น นี่คือความท้าทายภายใต้ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร หรือ แผนการเติบโตเชิงบวกของซินเจนทา ( Good Growth Plan) ที่จะต้องเร่งแสวงหาความร่วมมือให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนนั่นเอง