โดยการขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ ได้จับมือกับ 20 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง พัฒนาเครือข่าย "ปัญจภาคี" เฝ้าระวังป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดออกกลางคัน หลังพบตัวเลขเด็กและเยาวชนออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับหรือออกกลางคันในพื้นที่นำร่องมากถึง 714 คน พร้อมร่วมกันกำหนดมาตรการติดตามช่วยเหลือด้วยการประสานกับวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่จัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็ก ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯลฯ เพื่อให้มีทักษะและเกิดสัมมาชีพในพื้นที่ และได้ประสานงานกับ กศน. ในพื้นที่ดึงเด็กและเยาวชนทั้งหมดให้ได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับได้ถึง 406 คน และมีทักษะอาชีพด้านต่างๆ จำนวนกว่า 219 คน ตั้งเป้าขยายผลการทำงานออกไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์นอกจากสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น การเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือในเมื่อเราเป็นประเทศเกษตรกรรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังเยาวชนของเราให้มีความรู้ในเรื่องของเกษตรกรรม
"ต้องให้เด็กของเรามีความรู้ในเรื่อง การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การประมง การทำนา หลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่จะต้องเป็นการทำการเกษตรแบบที่มีการวางแผนอย่างมีระบบ ไม่ใช่เกษตรกรรมตามยถากรรมแบบเดิมๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝังและเรียนรู้ควบคู่ไปด้วยกัน"
นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ได้คำนึงถึงการทำงานให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ จึงได้ออกแบบให้มีคณะทำงาน 2 ระดับคือ คณะทำงานในระดับจังหวัด และคณะทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งคนทำงานซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงก็คือระดับพื้นที่
"วิธีการทำงานของจังหวัดสุรินทร์จะใช้วิธีการประกาศหาคนที่มีความสมัครใจในการที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับเด็กที่ออกกลางคัน โดยเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมกับเราในเบื้องต้น 20 แห่ง ตรงนี้เป็นความหวังว่าเมื่อท้องถิ่นในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญ และตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วมาจับมือร่วมกัน ความยั่งยืนตรงนี้ก็จะเกิดขึ้น เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งๆ มีหน้าที่เรื่องการการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน รวมไปถึงเรื่องการจัดการศึกษา โดยเราก็คาดหวังว่าการดำเนินงานในระยะต่อไปจังหวัดสุรินทร์น่าจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมจนครบทั้ง 172 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเกิดความยั่งยืน"