ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต ในปีนี้คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะพุ่งทะลุ 30 ล้านคนอย่างแน่นอน จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 29 ล้านคน ซึ่งรายได้ท่องเที่ยวโดยปกตินักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์อยู่ที่ 5-7% ของจีดีพี แต่ปีนี้น่าจะเกิน 10% ของจีดีพี นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องงบประมาณภาครัฐ ก็เป็นตัวหนุนเช่นกัน เนื่องจากหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารงาน ต้องมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเก่า ซึ่งขณะนั้นหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ประกอบกับจะต้องเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2.5 ล้านล้านบาทที่เพิ่งจบไป รวมกับงบประมาณปัจจุบันที่เริ่มใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2.7 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่ตัวนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตัวเลขภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก
รศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2559 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3-3.5% เงินงบประมาณจากภาครัฐกำลังไหลเข้าสู่ระบบ โดยมาจากงบประมาณปัจจุบัน 2.7 ล้านล้านบาท และงบเบิกจ่ายที่คงค้างยังเบิกไม่หมด หลังจากนั้นเดือนตุลาคมปี 2559 จะมีงบประมาณใหม่เข้ามา ซึ่งงบประมาณส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในแผนยุทธศาสตร์คมนาคมระยะ 8 ปี จำนวน 20 โครงการ มูลค่า 1.72 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลกำหนดขึ้น เกิดการลงทุนของภาครัฐ และร่วมมือกับเอกชน ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนเข้ามาจะเกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์ของการส่งออกในปี 2559 คิดว่าน่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะฟื้นตัว แต่เป็นแบบการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ แต่อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจจะโตที่ 3-3.5% ได้นั้น มีตัวแปรที่สำคัญคือ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศจีนและสถานการณ์การก่อการร้ายทิศทางในปีหน้า ซึ่งจะต้องจับตามองต่อไป
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ในปี 2559 นั้น สถานการณ์อาจยังไม่ค่อยดี โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ตลาดยัง Oversupply ผู้ประกอบการจะต้องเร่งขายให้หมด แต่ปัจจัยที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์มีความน่าตื่นเต้นมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะในส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า ซึ่งหากมองตามภาพปกติคอนโดมิเนียมจะเป็นที่น่าสนใจ แต่อยากให้มองลึกไปกว่านั้น บางคนที่มีกำลังซื้ออาจมองหาบ้านเดี่ยวแทน คิดว่าจุดนี้จะมีพลังที่ช่วยดึงภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ และการลงทุนของภาครัฐตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโต นอกจากนี้ ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่ามองเพียงในประเทศอย่างเดียว ต้องมองภายใต้เออีซี และมองไปที่อาเซียน เพราะขณะนี้ความต้องการของต่างชาติที่เข้ามามีความต้องการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องความสำคัญ และความต้องการตรงนี้ ทำให้อสังหาริมทรัพย์ไทยบุกไปต่างประเทศมาก สังเกตดูลักษณะแบบนี้จะเกิดในกลุ่มประเทศที่รวมกัน โดยระหว่างปี 2556-2557 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่การลงทุนนอกประเทศของไทยสูงกว่าต่างชาติที่มาลงทุน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดที่ไม่ใช่มองแค่ลูกค้าเป้าหมายคนไทยเท่านั้น