ผลวิจัยล่าสุดเผยต้นทุนชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย

อังคาร ๒๔ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๗:๐๙
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้จนถึงปี พ.ศ. 2554 โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี หากรัฐบาลไทยเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศ (1)

รายงาน "ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย" เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) (2)

"นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธจะเลือกแนวทางใด ระหว่างการได้มาซึ่งไฟฟ้าจากการผลิตในแบบเดิมโดยแลกกับผลกระทบด้านสุขภาพและการสูญเสียชีวิตของผู้คนหรือการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย " จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

"ทุกๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างขึ้นใหม่คือความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาจากโรคเส้นเลือดอุดตัน หัวใจวาย มะเร็งปอด และโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจหลอดเลือดและทางเดินหายใจต่างๆ ซึ่งผลกระทบนี้ยังรวมถึงการเสียชีวิตของประชากรวัยเด็ก" จริยา กล่าวเพิ่มเติม

เฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ซึ่งถูกโฆษณาว่าเป็น "ถ่านหินสะอาด" มลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 1,800 คนในช่วงระยะเวลา 40 ปีของการดำเนินงาน และหากนำมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีและเก็คโค่วันที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมเข้าไปด้วย จะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14,000 คนตลอดระยะเวลา 40 ปีของการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

"ตอนนี้จึงเป็นโอกาสของนายกรัฐมนตรีที่จะเลือกก้าวข้ามเทคโนโลยีสกปรก เช่นเดียวกันกับผู้นำโลกคนอื่นที่ได้ประกาศเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และสิ่งนี้ส่งผลให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง" จริยากล่าวเสริม

กรีนพีซนำเสนอ "รายงานต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย" หลังจากที่รัฐมนตรีพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประกาศเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่รวมกำลังผลิต7.3 กิกะวัตต์ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015)

"มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดฝุ่นละอองและโอโซนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การขยายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินตามแผนที่วางไว้จะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นทุนสุขภาพและชีวิตของผู้คนจากมลพิษถ่านหินควรจะต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจถึงทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย" แซนนอน คอบลิซ นักวิจัยทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าว

"การใช้ถ่านหินในระดับโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรปนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว กำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นใหม่ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มาจากพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในจีนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลนับตั้งแต่ปลายปี 2554" นายลาวรี่ มิลลีเวียตา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซสากลกล่าว

"ไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้สามารถมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานและไปให้พ้นจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เราเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านพลังงาน และจุดยืนในระดับสากล ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมุ่งมั่นสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เองในประเทศ ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัยและสะอาดอย่างจริงจังเสียที" จริยากล่าวสรุป

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ศึกษาถึงภาวะการเจ็บป่วยและภาวะการเสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ฮาร์วาร์ดและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผยแพร่รายงาน "ต้นทุนชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย" โดยประเมินว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 28,300 คนต่อปี ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างเร่งด่วน และรายงานวิจัยนี้ยังทำขึ้นที่เวียดนาม โดยผลจากศึกษาระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในเวียดนามประมาณ 4,300 คนต่อปี

หมายเหตุ

[1]ข้อมูลดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วยและการตายที่เกี่ยวเนี่องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจนถึงปี 2554

ข้อมูลตัวเลขอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เพิ่มขึ้นเป็น 5,300 รายต่อปี ศึกษาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและที่มีการวางแผนเปิดดำเนินการใช้จริงทั้งหมดแล้ว โดยไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เนื่องจากในขณะที่จัดทำรายงานยังไม่มีการประกาศเกี่ยวกับการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้

[2] GEOS-Chem คือแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (http://acmg.seas.harvard.edu/geos/) ที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำมาใช้เพื่อคำนวณความเข้มข้นของฝุ่นละออง( particular matter-PM) และโอโซน จากโรงไฟฟ้าถ่านหินบนฐานข้อมูลปัจจุบันและแผนการอนาคต GEOS-Chem ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อสร้างแบบจำลององค์ประกอบของบรรยากาศทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก แบบจำลองจะอธิบายถึงการเคลื่อนที่และพัฒนาการทางเคมีของมลสารในบรรยากาศและนำมาเชื่อมโยงการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดกับความเข้มข้นของมลพิษเหล่านั้นในกลุ่มผู้รับมลพิษ

รายงาน ต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.or.th/Thailand-human-cost-of-coal-power/th.pdf

รายงาน ต้นทุนชีวิตถ่านหิน อินโดนีเซีย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/id/PageFiles/695938/full-report-human-cost-of-coal-power.pdf

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version