นายแพทย์ประภาส วีระพล กล่าวว่า ช่วงนี้มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นค่อนข้างมาก อยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้ความระมัดระวังกันให้มาก อย่าประมาท ขับรถให้ถูกกฎจราจร อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ประสบอุบัติเหตุในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่ประสบเหตุ นำกิ่งไม้มาวาง โบกธงหรือทำสัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าเกิดอุบัติเหตุ จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางได้ทัน พร้อมสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงสภาพจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หากปลอดภัย
จึงเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ สำรวจจำนวนผู้ประสบเหตุ อาการบาดเจ็บของแต่ละคน พร้อมโทรฯ แจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลให้จัดส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มีทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
หากผู้เข้าไปช่วยเหลือมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ให้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีอาการรุนแรงที่สุดเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หัวใจหยุดเต้นและเสียเลือดมาก โดยให้ปฏิบัติดังนี้ กรณีหัวใจหยุดเต้น ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง จนผู้บาดเจ็บเริ่มหายใจด้วยตนเองได้ กรณีมีบาดแผล ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการห้ามเลือดเสียก่อน พร้อมทั้งปลดเสื้อผ้าส่วนที่รัดร่างกายคนเจ็บ ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในท่าที่ปฐมพยาบาลได้สะดวก เพื่อป้องกันการเป็นลมหรือช็อกหมดสติ กรณีกระดูกหัก ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ ยกเว้นเกิดเพลิงไหม้รถ เพราะจะทำให้ผู้ประสบเหตุพิการ กระดูกหัก หรือบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ห้ามดึงให้กระดูกกลับเข้าที่ ควรให้ส่วนที่หักอยู่นิ่งที่สุด ประคบด้วยความเย็นและรีบส่งโรงพยาบาล
กรณีอวัยวะฉีกขาด เช่น นิ้วขาด มือขาด เป็นต้น ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ หากอวัยวะถูกตัดขาดให้ใส่อวัยวะในถุงพลาสติกสะอาด ปิดปากถุงให้แน่นแล้วแช่ในกระติกน้าแข็งและรีบส่งโรงพยาบาลทันที ข้อควรระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซ้ำซ้อนและผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้ หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยด้วยตนเอง เพราะอาจทาให้พิการหรือเสียชีวิตได้