นายศุภชัย นิลวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์เอส เซ็นเตอร์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจว่า "ผมคิดและทำธุรกิจนี้เมื่อ15ปีก่อน ทดลองเปิดร้านอยู่กลางหมู่บ้านที่มีประชากรอยู่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน เมื่อมีรายได้เข้ามาก็พัฒนาปรับปรุงโปรแกรมบริหารการจัดการอยู่ตลอด และจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ ได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน เชิญให้เป็นวิทยากรประจำศูนย์ฯ หลักสูตร "โอกาสธุรกิจงานบริการ" โดยสอนจากประสบการณ์ตรง ทำให้ข้อหัวอบรมนี้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนกันจำนวนมาก และผู้เรียนบางคนก็สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ ทำให้เป็นที่มาต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หลังจากนั้นก็เข้าสู่เส้นทางธุรกิจอย่างเต็มตัว เมื่อปี 2550โดยเปิดบริษัท เพื่อสะดวกในการจัดการรายรับ-รายจ่าย และดำเนินงานในรูปแบบแฟรนไชส์ ธุรกิจรับฝากโอนเงิน จุดรับชำระเงิน และรวบรวมงานไปรษณีย์ มีต้นทุนในการบริหารการจัดการและลงทุนค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ มีหลายสาขาที่ร่วมลงทุนสามารถคืนทุนไม่เกิน 1 ปี เพราะว่ามีรายได้จากงานบริการประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ลงทุนค่าแฟรนไชส์เพียง 380,000 บาทเท่านั้น แม้จะมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังคือคู่แข่ง แต่จากการที่บริษัทไปเก็บตัวเลขรายรับจากสาขาที่อยู่ใกล้ๆกัน พบว่ายอดเงินรายรับต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน และร้านสะดวกซื้อดังกล่าวไม่เน้นงานบริการด้านนี้ให้กับลูกค้า ทำให้มีช่องว่างของธุรกิจอยู่ค่อนข้างเยอะ สำหรับสาขาที่ไม่มีคู่แข่ง ยิ่งสร้างรายได้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะงานบริการด้านรับฝากโอนเงิน ทำรายได้ถึง 40-50 บาทต่อรายการเลยทีเดียว" นายศุภชัย กล่าว
ด้วยรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน และมีหนังสือรับรองมาตรฐานแฟรนไชส์ภาครัฐ ทำให้กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นความสำคัญกับอาชีพอิสระนี้ จึงได้ร่วมกับบริษัท ซุปเปอร์เอส ฯ เปิดร้านบริการ Super S ในสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สู่อาชีพยุคดิจิตอลให้กับนักศึกษา เริ่มนำร่อง 3 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ และ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี โครงการเปิดร้านไปรษณีย์–จุดรับชำระเงิน-รับฝากโอนเงินเข้าบัญชีในสถาบันการศึกษานั้น ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้กับคณะอาจารย์และนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังสอนให้ทุกคนปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลโดยการรู้จักใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถบริหารงานได้อย่างหลากหลาย ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
อาจารย์อักษรศิลป์ แก้วมหาวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ กล่าวในระหว่างพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้สู่อาชีพยุคดิจิตอล supers center ว่า ในวิทยาลัยมีโครงการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อการศึกษา เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีความพร้อมในการประกอบอาชีพอิสระตามสาขาวิชาชีพที่เรียนมากที่จะส่งผลให้ประเทศไทยได้เครือข่ายที่มีคุณภาพเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบ่มเพาะ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมจะเติบโตอย่างมั่นคงในโลกภายนอก และให้ต้นกล้าน้อยๆได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ นำไปใช้ประโยชน์เติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรงและแผ่ร่มเงาต่อไป และอยากให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษา หลังจากเรียนจบไปแล้ว ก็สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ไปประกอบอาชีพอิสระด้านไอทีได้เป็นอย่างดี
นับเป็นโอกาสอันดีที่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ จะได้เรียนรู้ถึงอาชีพอิสระอย่างธุรกิจ รับฝากโอนเงิน จุดรับชำระเงิน และรวบรวมงานไปรษณีย์ ที่ใครๆก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองสร้างงานสร้างอาชีพให้ชีวิตมั่นคงได้ สำหรับผู้สนใจจะเข้าไปศึกษาดูงาน โทรศัพท์ 086-318- 5789 หรือดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์www.supers.co.th