โดย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สินสถาพร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภทกองทุนร่วม (Pooled Fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับรางวัลรางวัลรองชนะเลิศ และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารออมสิน ได้รับรางวัลการพัฒนากองทุนดีเด่น
การประกาศผลรางวัลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น โดยสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการประกาศรางวัลเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างถึงความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้างสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณของตนเองในอนาคต
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) กล่าวว่า "งานบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นอีกงานหนึ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากตระหนักดีว่าเงินในกองทุนเป็นเงินออมของลูกจ้างที่อดทนสะสมมาโดยตลอด เพื่อทำให้ดำรงชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีศักดิ์ศรี คนทุกวัยที่ยังทำงานอยู่ในวันนี้จึงต้องรู้จักวางแผนล่วงหน้าเพื่ออนาคต และการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ดีจะไม่ใช่การมุ่งทำให้กองทุนได้ผลตอบแทนสูงๆ เพียงช่วงสั้นๆ แต่เป็นการเลือกลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของ บลจ.บัวหลวง ที่จะ ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน"
นายหรรสา สุสายัณห์ Managing Director , Head of Corporate & High Net Worth Business กล่าวว่า กองทุนสินสถาพร เป็นกองทุนร่วมที่ปัจจุบันมีนายจ้างกว่า 1,100 ราย มีสมาชิกกว่า 130,000 คน มีความโดดเด่นของการเป็นกองทุนร่วมที่ออกแบบมาให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัทสามารถเข้ามาลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแต่ละคนกับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทได้อย่างครอบคลุม เพราะมีกองทุนย่อยให้เลือกลงทุนได้หลากหลาย โดย บลจ.บัวหลวง เน้นการให้ความรู้แก่สมาชิกกับคณะกรรมการกองทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เลือกแผนลงทุนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายการออมเงินระยะยาวของแต่ละคนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทุนสินสถาพรฯ ได้รับรางวัลในครั้งนี้
"เราเข้าใจดีว่าแต่ละองค์กรมีเงื่อนไข มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน บางแห่งต้องการ Employee Choice ให้พนักงานเลือกลงทุนได้เอง เพราะพนักงานเข้าใจเรื่องการลงทุน รู้จักความเสี่ยงอยู่แล้ว บางแห่งคณะกรรมการกองทุนซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างก็ยังมีความกังวลเรื่องจะให้ลูกจ้างเลือกลงทุนได้เองตั้งแต่เริ่มแรก เพราะสมาชิกจำนวนมากไม่เคยรู้จักการลงทุนมาก่อน การทำความเข้าใจจึงต้องใช้เวลา ดังนั้น กองทุนสินสถาพร จึงถูกออกแบบให้ตอบโจทย์แบบต่างๆ ได้หลากหลาย มีกองทุนย่อยที่ลงทุนแบบผสมโดยมีสัดส่วนของตราสารหนี้มากกว่าหุ้นสำหรับช่วงแรกๆ ของการลงทุน และเมื่อสมาชิกได้เรียนรู้จนเข้าใจมากขึ้นแล้ว คณะกรรมการก็สามารถเลือกกองทุนย่อยที่มีความเสี่ยงมากขึ้นมาให้เป็นทางเลือกของสมาชิกเพิ่มได้ต่อไป" นายหรรสา กล่าว
ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดสินรางวัลแบ่งเป็น 4 หมวด คือ หมวดที่ 1 การบริหารจัดการกองทุน 30 คะแนน พิจารณาจากข้อมูลกองทุน ระบบงานต่างๆ โครงสร้างการกำกับดูแลกองทุนร่วมของ บลจ. และการตรวจสอบกองทุนร่วม หมวดที่ 2 ความสามารถในการเป็นที่พึ่งในวัยหลังเกษียณ 40 คะแนน พิจารณาจากแผนการลงทุน ผลการจัดการกองทุน และการรายงานผลการจัดการลงทุน หมวดที่ 3 บทบาทของ บลจ. ต่อการพัฒนาศักยภาพสมาชิกกองทุน 25 คะแนน พิจารณาจากการให้ความรู้แก่สมาชิก และความพึงพอใจของสมาชิกและกองทุน และ หมวดที่ 4บทบาทของ บลจ. ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5 คะแนน