มูลนิธิพีซีเอส แถลงข่าวเปิดโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา

พุธ ๐๒ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๕๓
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ร่วมกับ มูลนิธิพีซีเอส แถลงข่าวเปิดโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี60 พรรษา พร้อมจัดกิจกรรม สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5 (Happy Family Day 2015)

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ มูลนิธิพีซีเอส เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศไทย โดยบริษัทพรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือพีซีเอส เชิญชวนน้องๆ ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะทั่วประเทศ เข้ารับการรักษาได้ตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งการรักษาผ่าตัด ค่าเดินทาง และที่พัก และขอเชิญน้องๆพร้อมครอบครัวมาร่วมกิจกรรมงานวัน "สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5" (Happy Family Day 2015) ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00 - 15.30 น. ณ อาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งกิจกรรมนี้เปรียบเสมือนวันเด็กของผู้ป่วยเหล่านี้ให้ได้มีโอกาสได้รับความสุขสนุกสนาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับความพิการของร่างกาย และสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหวัง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมครอบครัวประมาณ 600 คน

รศ. นพ. รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันทางโรงพยาบาลรับดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะชนิดรุนแรงถึงปีละประมาณ 300 คน โดยทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง (craniofacial deformities) แห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างครบวงจร ในมาตรฐานดียวกับสากล จึงมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนยากแก่การรักษาเช่นนี้ โดยมีโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา ช่วยเหลือค่ารักษาผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยทุกราย อีกทั้งยังจะมีการจัดงาน "สนุกสุขสันต์วันพบปะ" ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีโอกาสได้สนุกและสุขสันต์ นับเป็นกิจกรรมที่คุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก

ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือชื่อเดิม ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ เป็นไปตามหลักการสากลของสภากาชาด ทั้งนี้ ความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่าได้หมดหวัง แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางด้านสาธารณสุขว่า ไม่มีทางรักษา หรือการรักษาจะต้องรอทำเมื่อโตแล้วเท่านั้น ขอให้ลองมาปรึกษาดูก่อน เพราะจากประสบการณ์ของศูนย์ฯ พบมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้

เริ่มต้นการรักษาช้าไปและเสียโอกาส ดังนั้นเมื่อพบเด็กแรกเกิดที่มีความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะก็ควรได้รับการตรวจประเมินร่างกายทุกส่วนให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ ควรนำผู้ป่วยมาตรวจประเมินเป็นระยะเมื่อเจริญเติบโตไปตามอายุ เพราะความผิดปกติของเด็กหลายๆ อย่างอาจไม่สามารถตรวจพบได้เมื่ออายุน้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความผิดปกติต่างๆ ก็อาจปรากฏชัดเจนขึ้นและตรวจพบได้ในภายหลัง

รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า จากปัญหาที่ซับซ้อนในผู้ป่วยที่มีความพิการรุนแรงเหล่านี้ ทำให้การรักษาจำเป็นต้องมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ กรณีที่ต้องผ่าตัด ก็จำเป็นต้องทำโดยศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผ่าตัดนั้นสูงเกินกว่าที่ผู้ป่วยและครอบครัวซึ่งมักจะอยู่ในชนบทจะสามารถรับได้ ในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปีนี้ ทางศูนย์ฯ จึงได้จัดให้มีโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อขยายความช่วยเหลือออกไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้พิการทางใบหน้าและศีรษะจำนวนอย่างน้อย 200 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทางโครงการจะช่วยเหลือแบบครบวงจรทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าตัด ค่าเดินทาง ที่พัก การฝึกพูด การจัดฟัน ฯลฯ โดยผู้ป่วยที่สนใจสามารถติดต่อรับการรักษาผ่านโครงการฯ ได้โดยตรงที่ศูนย์ฯ หรือขอรับการรักษาผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดและโรงพยาบาลในภูมิภาค

นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพทางกายของผู้ป่วยแล้ว ทางศูนย์ฯยังคำนึงสภาพจิตใจด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จึงได้ดำเนินการโครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง (Craniofacial Support Group) เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจ แบบเป็นกลุ่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นต้นแบบของการจัดกลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเองสำหรับผู้มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และยังจัดให้มีงานประจำปีขึ้นเป็นพิเศษในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เรียกว่า "งานวันพบปะครอบครัวผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ" ปัจจุบันเรียกว่า "งานสนุกสุขสันต์วันพบปะ" (Happy Family Day) ซึ่งเป็นงานสังสรรค์สำหรับผู้ที่มีความพิการใบหน้าและกะโหลกศีรษะโดยเฉพาะ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กและครอบครัวได้มาพบปะสังสรรค์กัน เสมือนเป็นวันเด็ก ได้เยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจ มีวิทยากรให้ความรู้ ได้รับของแจกของที่ระลึกมากมาย ทำให้เขาเหล่านี้รู้สึกว่า เขาก็มีโอกาสทางสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น

ด้าน นายธนา ธิรมนัส ประธานกรรมการมูลนิธิพีซีเอส เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ โอซีเอส ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรม "สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5" (Happy Family Day 2015) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สองของเรา นอกเหนือจากนี้ทางมูลนิธิฯยังจะได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ที่ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองนั่งรอพบแพทย์ บริเวณหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของมูลนิธิพีซีเอส ที่ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมูลนิธิ เชื่อมั่นในการทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม อันเป็นการตอบแทนสังคม เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเด็กไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะเด็กที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะจะได้รับโอกาสใหม่ในชีวิตและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ที่ผ่านมา ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง และในการดำเนินการตามโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในครั้งนี้ ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯได้รับเกียรติจากคุณกมลา สุโกศล คุณเกรซ มหาดำรงค์กุล และคุณปิยวดี มาลีนนท์ เป็นทูตประชาสัมพันธ์ของโครงการ

คุณกมลา สุโกศล และครอบครัว พร้อมด้วยกลุ่มโรงแรมสุโกศล ซึ่งได้ร่วมบริจาคและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ในครั้งนี้นอกจากจะได้ร่วมเป็นฑูตประชาสัมพันธ์ของโครงการฯและบริจาคสมทบทุน ยังจะได้ร่วมสนับสนุนงาน สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5 (Happy Family Day 2015) โดยการบริการอาหารกลางวันสำหรับน้องๆ และครอบครัวในงานด้วย

`ขณะที่ คุณเกรซ มหาดำรงค์กุล หนึ่งในทูตประชาสัมพันธ์ของโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา ผู้มาร่วมแบ่งปันรอยยิ้มและความสุขแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ได้แสดงความรู้สึกว่า เมื่อได้เห็นผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าเหล่านี้แล้ว ตระหนักเลยว่า ชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ธุรกิจ และงานทางด้านบันเทิง ตัวเองโชคดี ได้สิ่งดีๆจากคุณพ่อคุณแม่และครอบครัว ได้รับโอกาสที่ดีจากสังคม วันนี้จึงอยากให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับโอกาสดีๆบ้าง อยากจะมอบสิ่งดีๆให้น้องๆและครอบครัว อยากให้เขาก็มีความสุขเช่นเดียวกับทุกๆคน ขอให้พวกเรามาช่วยกันนะคะ "สิ่งที่เรามอบจากใจ มันคือสิ่งที่ผู้รับรู้สึกและสัมผัสได้" คุณเกรซกล่าว

ทูตประชาสัมพันธ์ท่านสุดท้าย คุณปิยวดี มาลีนนท์ ได้สละเวลาของผู้จัดละครมือทองมาเพื่อช่วยเหลือโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา จากประสบการณ์การทำละครที่ผ่านมา ได้มองเห็นชีวิตที่หลากหลายผ่านละครทางหน้าจอทีวี เมื่อได้มาพบชีวิตจริงของผู้ที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ที่ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดูแลอยู่ ก็รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง และก็พบว่าความช่วยเหลือและกิจกรรมที่ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯดำเนินการอยู่ จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ตัวผู้ป่วย แต่ครอบครัวผู้ป่วยและสังคมก็มีส่วนที่ได้ด้วย ส่วนตัวจึงคิดว่า การเข้ามามีบทบาทช่วยทางศูนยสมเด็จพระเทพรัตนฯเป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงและสามารถจะทำได้ฐานะของคนไทยคนหนึ่ง "น้ำใจจากผู้ให้ คือกำลังใจและโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของผู้รับ" คุณปิยวดีกล่าวส่งท้าย

น้องๆ ผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่น ๆ และครอบครัว ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรม "สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5" (Happy Family Day 2015) ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ฟรีตลอดงาน ติดต่อได้ที่ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึก สก. ชั้น 14 โทรศัพท์ 0 2256 4330 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล [email protected] เว็บไซต์ www.craniofacial.or.th

ท่านผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคสิ่งของสำหรับเป็นของจับฉลากและของที่ระลึกในงานให้กับน้องๆ อาทิ นม ผ้าอ้อม ของเล่นสำหรับผู้ป่วย สมุด ดินสอ สมุดวาดภาพ ดินสอสี เป็นต้น หรือสิ่งของอื่นๆ ที่จะเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 02-256-4440, 02-255-9911 และ 02-251-1218 ต่อ 118

จัดส่งสิ่งของบริจาคได้ที่...

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ตึก สก. ชั้น 14) ที่อยู่ 1873 ถ.พระราม 4 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

---------------------------------------------

ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ข่าว

บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

พิมพกานต์ ไชยสังข์ [email protected]

ปัณณ์รภัส ศรีคิรินทร์ [email protected]

โทร.0-2610-2382 โทรสาร 0-2610-2345

With best regards,

ติดต่อ:

หมวดข่าว: สุขภาพ

คำค้น: มูลนิธิพีซีเอส

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ