นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียหรือของเหลือทิ้งที่ไม่ทำให้เกิดมลภาวะ ซึ่งประเทศไทยมีผลผลิตพลอยได้ (byproduct) ทางการเกษตรและพืชท้องถิ่นปริมาณมากและบางส่วนยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้ผลักดันและดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ในระยะที่ 1 และ 2 ปี 2557 – 2558 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาวัสดุเหลือทิ้งในภาคเกษตร จนได้เป็นผลลัพธ์ อาทิ เส้นใยจากใบสับปะรด เส้นใยจากต้นกล้วย เส้นใยจากก้านกล้วย เส้นใยจากผักตบชวา ฯลฯ ในระบบอุตสาหกรรมเตรียมเข้าสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมต่อยอดออกแบบและสร้างสรรค์เป็น ผลงาน Eco Textiles ได้อย่างหลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่น หมวก กระเป๋า รองเท้าส้นสูงจากผักตบชวา ผลิตภัณฑ์จากก้านกล้วย เครื่องแต่งกายบุรุษ กระเป๋า รองเท้า และผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอสะท้อนน้ำ เป็นต้น โดยได้ร่วมดำเนินการพัฒนากับภาคเอกชน ภาคการศึกษา นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดให้มีการประกวดรางวัล Creative Textiles Award 2014-2015 ซึ่งสามารถสร้างความเข้าใจและกระตุ้นการตอบสนองด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเกิดความร่วมมือระหว่างภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอในกระบวนการต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับปี 2559 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 3 โดยได้เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 2560-2564 ในการส่งเสริมพัฒนาสิ่งทอที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) และ สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) ร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรมได้แก่
กิจกรรมที่ 1 ศึกษาแนวโน้มของนวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ ข้อมูลวัตถุดิบ นวัตกรรมกระบวนการผลิต แนวโน้มการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในภาคการเกษตรของไทยและอาเซียน รวมทั้งข้อมูลด้านตลาด การแข่งขันของอุตสาหกรรม จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ พร้อมจัดทำฐานข้อมูล
กิจกรรมที่ 2 พัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบภาคการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) และ สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles)
พัฒนาเส้นใยจากภาคการเกษตร สู่กระบวนการออกแบบ และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่คุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) และ สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) โดยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมและผลักดันออกสู่เชิงพาณิชย์
กิจกรรมที่ 3 ประกวดงานออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ (Creative Textiles Award) ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท
พัฒนาทักษะการออกแบบของนักออกแบบและผู้ประกอบการเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสิ่งทอและแฟชั่นไทย การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแนวโน้มการออกแบบแฟชั่นและการพัฒนาเพื่อเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านกิจกรรมการ
ประกวดผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ (Creative Textiles Award 2016) ภายใต้แนวคิด "New Sustainability New Attitude" เพราะ "คน" คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ชิงรางวัลชนะเลิศ : เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่ห์และเกียรติบัตร รวมทั้งสิทธิ์พิเศษ สำหรับผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย กับโอกาสในการเผยแพร่ผลงานในนิตยสาร L'OFFICIEL และโอกาสในการต่อยอดเข้าร่วมโครงการประกวดออกแบบและงานแสดงสินค้าระดับโลก
โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าฝ้ายซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติสูงถึงร้อยละ 95 ของปริมาณการใช้ฝ้ายในประเทศ รวมทั้งนำเข้าเส้นใยจากพืชอื่น ๆ อีก อาทิ ป่าน ลินิน คิดเป็น 0.39 % ด้านการส่งออก(มกราคม – กันยายน 2558) ไทยส่งออกสิ่งทอจากพืชทั้งสิ้น 16.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และส่งออกไปยังอาเซียนเพียง 0.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่แนวโน้มการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สิ่งทอเทคนิคส่วนใหญ่ก็นำเข้าเช่นกัน ไทยมีการผลิตเพียงแค่ร้อยละ 5 ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ หากไทยเร่งพัฒนาเส้นใยธรรมชาติตามศักยภาพพื้นฐานคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ลดการนำเข้า สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความหลากหลายให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนำไปสู่ผู้นำสิ่งทอในอาเซียนได้ในอนาคต
สำหรับสถานการณ์ส่งออกสิ่งทอไตรมาสที่ 3 เดือนมกราคม-กันยายน 2558 มีมูลค่า 3,230.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.65 และนำเข้ามีมูลค่า 2,760.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 2,021.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.12 และนำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.22
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org