ผลการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ศุกร์ ๐๔ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๕๐
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 (The 12th Thailand Paper-folded Airplane Competition) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น ที่งาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558" อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมเตรียมส่งเป็นตัวแทนชิงชัยระดับโลกต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและพิธีปิดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับฯ ว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างยิ่ง และมีนโยบายในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ สำหรับด้านการศึกษานั้น วิทยาศาสตร์ถือเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น โครงการจัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ได้ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทย จัดขึ้น นับเป็นการขานรับนโยบายของกระทรวงฯ และนโยบายของประเทศ ในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านเครื่องบินกระดาษพับ ของเล่นธรรมดาๆ ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วตั้งแต่วัยเด็ก มาทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำเอาวัสดุรอบตัวเราที่มีราคาถูกมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ อันจะเป็นรากฐานในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า การเล่นเครื่องบินกระดาษพับช่วยฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้เล่นเป็นคนละเอียดอ่อน เพราะการพับเครื่องบินนั้น กระดาษจะต้องเรียบ ห้ามยับแม้แต่นิดเดียว เพราะจะมีผลต่อการบินทันที นอกจากนี้ผู้เล่นยังจะได้เรียนรู้หลักการที่ว่าทำไมเครื่องบินถึงลอยได้ ทั้งที่ไม่ต้องมีใบพัด และต้องใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการทำให้เครื่องบินกระดาษร่อนได้นานที่สุด ซึ่งกว่าจะเดินทางมาแข่งขัน ณ จุดนี้ได้ ทุกคนต้องผ่านความพยายาม การทุ่มเท ลองผิดลองถูก เสียสละเวลาพัฒนารูปแบบของเครื่องบินกระดาษพับและหมั่นฝึกซ้อมสม่ำเสมอจนเกิดเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้เครื่องบินกระดาษพับลำที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดในการเข้าแข่งขัน ชิงชัยในครั้งนี้ ซึ่งในรอบสุดท้ายผู้เข้าแข่งขันจะต้องพับเครื่องบินตามแบบที่กรรมการกำหนด และตามแบบที่ผู้เข้าแข่งขันถนัด นำมาร่อนเพื่อบันทึกสถิติ โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการหาเหตุและผล ลำไหนลอยอยู่ได้นานก็เก็บลำนั้นไว้ แล้วมาวัดสัดส่วนต่างๆ ว่าส่วนไหนเป็นอย่างไร กว้าง, ยาวเท่าไหร่ ส่วนลำไหนขว้างแล้วร่อนไม่ดี ร่อนไม่ได้นาน เราก็ต้องมาหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร และพยายามหาทางแก้ไขให้ได้ โดยใช้หลักการทางฟิสิกส์ เข้าช่วย สำหรับทิศทางการขว้างก็มีผล ยิ่งขว้างเครื่องบินได้สูงเท่าไหร่ ก็จะทำให้เครื่องบินร่อนอยู่ในอากาศได้นานเท่านั้น

ด้าน นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทยเริ่มให้ความสนใจกับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และทั่วโลกก็มีอยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และไทย อย่างไรก็ตาม ทั้ง อพวช. และสมาคมฯ ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนกับการเรียนรู้ผ่านเครื่องบินกระดาษพับแผ่นเล็กๆ เช่นนี้เรื่อยมา โดยเริ่มการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2546 และสำหรับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 12 แล้ว เป็นการแข่งขันแบบประเภทร่อนนาน โดยแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นทั่วไป โดยในปีนี้นอกจากจะมีรางวัลที่ 1,2,3 แล้ว ยังจัดให้มีรางวัลพิเศษขึ้นอีก 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้เข้าแข่งขันหน้าใหม่ดีเยี่ยม และรางวัลผู้สร้างสถิติใหม่สูงสุดของประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการคัดเลือกเพื่อเฟ้นหาตัวแทนในแต่ละภูมิภาคเข้าร่วมชิงชัยรอบชิงชนะเลิศนั้น อพวช. และหน่วยงานร่วมจัดได้มีการออกตระเวนจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนี้ ส่วนแรก คัดเลือกจากสนามแข่งขันรอบคัดเลือกที่ อพวช. จัดขึ้นพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ทั่วประเทศ ส่วนที่ 2 คัดเลือกจากสนามแข่งขันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค ส่วนที่ 3 คัดเลือกจากสนามแข่งขันภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ช่วงระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งในวันที่ 25 พฤศจิกายน นอกจากเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว ยังเป็นวันที่จัดให้มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 รอบชิงชนะเลิศ รวมทั้ง พิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศและพิธีปิดการแข่งขันฯ โดยภายในงานยังมีการแสดงการร่อนเครื่องบินกระดาษพับให้นานที่สุด โดยคุณทาคูโอะ โทดะ เจ้าของสถิติโลก Guinness World Record ในฐานะผู้พับเครื่องบินกระดาษพับที่ร่อนอยู่ในอากาศได้นานที่สุด และมีผลงานหนังสือสอนพับเครื่องบินกระดาษกว่า 500 แบบ ปัจจุบันคุณทาคูโอะ โทดะ เป็นประธานบริษัท เคชเท็ม (สยาม) จำกัด และ บริษัท เคชเท็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ดำเนินกิจการโลหะ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศญี่ปุ่น (Japan Origami Airplane Association, JOAA) อีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขอแสดงความยินดีในความสามารถของเยาวชน และประชาชน ที่ได้รับรางวัลกับความทุ่มเทพยายามในครั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รางวัลใดๆ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ต่อไป ที่สำคัญอยากชื่นชม อพวช. และสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทยที่จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับนี้ขึ้นมา สามารถทำให้เครื่องบินกระดาษพับแผ่นเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นเด็กหรือเรื่องไร้สาระในมุมมองเดิมๆ ที่หลายคนเคยคิดอีกต่อไป เพราะเราสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการพับเครื่องบินกระดาษได้ และทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองพับเครื่องบินกระดาษเล่นดู ไม่แน่กระดาษแผ่นเล็กๆ ในมือเราอาจทำให้เราค้นพบความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับประเทศคนหนึ่งก็เป็นได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ