นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาเกษตรกร ระหว่างสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน โดยได้เน้น 4 หลักการในการช่วยลดต้นทุน ได้แก่ ลดปัจจัยการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มการบริหารจัดการ และวางแผนเพิ่มช่องทางการตลาด สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนการวิจัยและจัดโซนนิ่งให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก และดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม รวมทั้งการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำความร่วมมือทางวิชาการศึกษาวิจัย การพัฒนา การส่งเสริม การฝึกอบรมทางด้านเกษตร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรองค์กรเกษตรกร และพนักงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมสร้างโอกาสการเรียนรู้ทางด้านการผลิต การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป และการตลาดของสินค้าทางการเกษตร และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
"ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน นับเป็นภารกิจที่สำคัญในการประสานความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีเกษตรกรสมาชิกที่อยู่ในความดูแลประมาณ 5.7 ล้านคนที่กำลังรอคอยการช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมความรู้จากภาครัฐ โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยเน้นให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบครบวงจรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นายอำนวย กล่าว
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะกำหนดให้หน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแล เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้ของเกษตรกร รวมทั้งการให้การสนับสนุนข้อมูล เอกสาร งบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จที่ตั้งไว้ และร่วมสร้างฐานองค์ความรู้ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและพนักงานของสำนักงาน ให้การสนับสนุนข้อมูล เอกสาร งบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรการสนับสนุนการดำเนินงาน ภายใต้การให้คำแนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษา วิจัย การถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาทางด้านการผลิต การรวบรวมผลผลิตการแปรรูป การตลาด และการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณตามกิจกรรม