(ต่อ1) แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส เสนอโปรดักชั่นโน๊ตภาพยนตร์ไทยเรื่อง ก็เคยสัญญา

จันทร์ ๐๔ เมษายน ๒๐๐๕ ๑๓:๒๔
แม้จะเป็นหนังย้อนยุค แต่ผู้กำกับซ้งธ์ไม่ต้องการให้ดูสมจริงไปหมดทุกอย่าง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายย้อนสไตล์กลับไปในอดีต โอเวอร์นิดหน่อย สีสันเยอะกว่าปกติ เกินความเป็นจริงงานด้านศิลปกรรมให้สนใจแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อยของยุคสมัย บางช่วงบางตอนของหนังจะเป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สวนสน” ซึ่งเข้าฉายในช่วงทศวรรษที่ 1970 พอดี เป็นแบ็คกราวด์ “เรื่องสวนสนมีเพลง ทะเลไม่เคยหลับ ของดิอิมฯประกอบ” ผู้กำกับซ้งธ์เปิดเผยความจริง “เราก็เอาเพลงทะเลไม่เคยหลับมาใช้ประกอบอย่างมีความหมายในฉากเปิดกับฉากปิดของหนังชาติสอง”
โรงภาพยนตร์เก่ากลายเป็นโลเคชั่นสำคัญสำหรับหนัง ชาติสอง ฉากกองสลากที่โจ๋ยเอาล็อตเตอรี่ไปขึ้นเงินก็เป็นโรงภาพยนตร์เก่าบ้านโป่ง ฉากโรงพักที่ม่อกกับโจ๋ยทะเลาะกัน ใช้โรงภาพยนตร์เก่าที่โพธาราม และภายในก็ใช้ทำฉากห้องขัง ยกเว้นฉากที่โจ๋ยส่งเสียงดังนำทางม่อก ไปถ่ายที่โรงภาพยนตร์ร้างที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ “ผมชอบโรงหนัง” ซ้งธ์เล่า “ตอนเด็กอยู่กับโรงหนัง เกาะชาวบ้านเข้าไปดูฟรีจนถูกคนเก็บตั๋วด่า โรงหนังแต่ละแห่งมีสถาปัตยกรรมไม่เหมือนกัน คิดถึงหนังพีเรียดเมื่อไหร่เป็นต้องคิดถึงโรงหนังเก่าเสมอ”
เช่นเดียวกับรถไฟ ที่ในหนังยกกองไปถ่ายที่สถานีรถไฟเจ็ดเสมียนกับสถานีรถไฟบ้านโป่ง “ตอนเด็กเคยเดินเที่ยวตามรางรถไฟกับเพื่อนตลอด หนัง ๙ พระคุ้มครอง ที่มีรถไฟ มีเสาร์ห้า ก็เอามาจากประสบการณ์ตอนเด็ก” ซ้งธ์ว่าต่อ “ไปดูโลเคชั่นที่ไหน ๆ จะรู้สึกเฉย ๆ แต่พอเห็นโรงหนังกับรถไฟจะชอบใจเป็นพิเศษ ตอนแรกก็ไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งทุกคนทัก”
ฉากชกต่อยหน้าร้านคาราโอเกะระหว่างม่อก-โจ๋ยกับแมงดา ถ่ายทำหน้าร้านคาราโอเกะจริง เดิมทีจะสร้างฉากขึ้นมาใหม่แถวโรงภาพยนตร์ที่ใช้เป็นฉากกองสลากฯ “คืนหนึ่งแว่บไปดู เห็นว่าน่าจะดีกว่าไปสร้างฉาก แถมยังอยู่ในงบ ก็เลยเปลี่ยนใจ เพราะได้กลิ่นได้บรรยากาศมากกว่า” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องบอก
ฉากจบต้องโยกย้ายไปใช้โลเคชั่นริมทะเลที่หัวหิน แต่ฉากกรมตำรวจที่ม่อกกับโจ๋ยถูกจับไปถ่ายรูปทำประวัติใช้อาคารของสถานีรถไฟบางกอกน้อย “ฉากนี้ต้องใช้เศษกระดาษเต็มคันรถกระบะมาใช้ประกอบ” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องเล่าถึงเบื้องหลังฉากที่นักศึกษาบุกประท้วงกรมตำรวจ “เอาเศษกระดาษมาโปรยเพื่อเพิ่มบรรยากาศความสับสนวุ่นวาย”
โปรดักชั่นดีไซเนอร์นอกจากจะรู้เรื่องศิลป์แล้วยังต้องรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม เข้าใจความเป็นมาของยุคสมัย ต้องค้นคว้าหาข้อมูลรายละเอียดมาประกอบการทำงาน “ต้องไปดูว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสมัยนั้นเป็นอย่างไร รถเมล์ต้องเป็นนายเลิศ ล็อตเตอ่รีต้องเป็นแบบไหน รางวัลเป็นเงินเท่าไหร่ เลขเป็นยังไง โปสเตอร์หนังเป็นยังไง รถฉายหนังเป็นยังไง” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องบอก “แม้กระทั่งวิทยุก็ต้องเป็นธานินท์ คนเห็นแล้วเข้าใจ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย เป็นตัวแทนความเป็นไทย คนเห็นปุ๊บเชื่อปั๊บ สมจริงขนาดได้กลิ่น”
หวยกับล็อตเตอรี่ยังถูกโปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องใช้เป็นภาพสะท้อนความเป็นคนไทย “ทั้งหมู่บ้านคนหายเงียบไปหมด เพราะไปนั่งฟังวิทยุถ่ายทอดหวยออก” ป๋องเล่าติดตลก “มีแต่คนขับรถฉายหนังคนเดียวที่วิ่งมาฟังเป็นคนสุดท้าย เพราะเพิ่งเสร็จจากทำมาหากิน มันบอกอุปนิสัยคนไทย มันช่วยเล่าเรื่อง แล้วก็ตรงกับพล็อตเรื่องด้วย”
อานนท์ จันทร์ประเสริฐ (โอ๊ต) ผู้กำกับภาพ ทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับซ้งธ์
“คุยเรื่องอารมณ์ของหนังกับผู้กำกับ คิดอะไรได้แบบที่รู้สึกว่าเข้าท่าก็จะเอาไปเสนอผู้กำกับ” โอ๊ตเล่า “ผมขอผู้กำกับเทสต์อารมณ์ เทสต์สีสำหรับฉากกลางคืน หนังทั่วไปเวลากลางคืนสีจะออกน้ำเงิน
ซึ่งผมไม่เคยเห็นสีกลางคืนของจริงที่ไหนเป็นแบบนั้น ตกลงผมเลือกสีกึ่งน้ำเงิน เอาไฟเดย์ไลต์มาถ่ายกับฟิล์มทังสเตน”เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดภาพสลับไปมาซึ่งหาความแปลกใหม่ไม่เจอ ในฉากที่โจ๋ยกับม่อกถูกตำรวจหญิงในโรงพักจับถ่ายรูปทำประวัติ ผู้กำกับภาพโอ๊ตเลือกที่จะใช้เลนส์พิเศษที่เรียกว่า snorkel lens ซึ่งสามารถเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาได้
“UNDERGROUND”
การเตรียมการล่วงหน้าคือหัวใจสำคัญในการถ่ายทำ “ก็เคยสัญญา” ชาติสาม ที่สมมุติเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครอีก 30-50 ปีข้างหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
“โลกยุคนั้นไม่เจริญแบบยุคอวกาศ แต่เป็นโลกในแง่ที่ติดลบ เกิดมลพิษ เกิดสงคราม เกิดการปฏิวัติ ระบบการปกครองถูกเปลี่ยนแปลง” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องบรรยาย
งานด้านศิลปกรรมกลายเป็นตัวเอกของหนัง สะท้อนยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของสังคม เริ่มจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกชนชั้นของผู้สวมใส่ ชาญชัยกับอีกหลายคนซึ่งเป็นชนชั้นต่ำในสังคม แต่งตัวเลียนแบบคนจีนในยุคเริ่มต้นการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ด้วยเพราะเป็นคนยากจนไม่มีสตางค์มากพอซื้อเสื้อผ้าสีสันทันสมัย เสื้อผ้าที่สวมได้จากรัฐบาล เป็นยูนิฟอร์มไม่เสียเวลาออกแบบ ขณะที่นางเอกหรือชนชั้นสูงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากหลายสีสัน ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมไปถึงผู้นำซึ่งเป็นเผด็จการแต่งกายเลียนแบบนาซีเพราะเป็นยุคสมัยที่ทุกอย่างขาดแคลน ข้าวของเครื่องใช้แทบทุกอย่างที่เห็นในหนังจึงเป็นของเก่าเอากลับมาใช้ใหม่ ศาสนายังมีอยู่ แต่เหลือแค่ศาลเจ้าเล็กๆในซอย ไม่มีวัดวาอารามใหญ่โต มีคนขายของแบกะดินเพราะคนจนยังไม่หมดไปจากสังคม น้ำอัดลมอย่างโค้กกลายเป็นสัญลักษณ์ทางชนชั้น เป็นของแพง ต้องมีเงินมาก ๆ ถึงจะซื้อกินได้ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนไปเพราะมลพิษ บรรยากาศมืดครึ้มเซื่องซึม ฝนตกมากขึ้น เมืองไทยกลายเป็นเมืองหนาว ไปไหนต้องกางร่มตลอด จักรยานกลายเป็นพาหนะสำคัญสำหรับชนชั้นต่ำเพราะยุคนั้นน้ำมันหมดโลก ระบบขนส่งมวลชนยังเปิดบริการ มีรถไฟใต้ดินที่สภาพสุดทรุดโทรม
ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาใหม่สำหรับโลกอนาคต เอาตัวหนังสืออังกฤษ-จีน-ไทยมาผสมปนเป อ่านไม่ได้ความ แต่สื่อให้เข้าใจได้ อย่างป้ายที่สถานีรถไฟ ก็เดาเอาว่าเป็นสถานีรถไฟ
“สารพัดสัตว์”
“สิ่งที่ต้องการในชาตินี้คือ สไตล์ โมเดิล แบบกลางๆ ที่รวมของที่ไม่เข้ากัน มาไว้ด้วยกัน โดยไม่เน้นว่าเป็นอนาคต แต่ ในขณะ ที่มันคืออนาคต ”นี้คือสิ่ง ที่ผู้กำกับซ้งธ์ บอกกับ โปรดักชั่นดีไซน์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์
“เนื่องจากชาตินี้ จะเล่นเรื่องของคน กับ สัตว์ ที่อยู่ร่วมกันเป็นปกติ ผมจึงเลือกสถานที่ ที่จะสร้างเป็นเมืองใหม่ ไม่ให้ดูเป็นอนาคตเกินไป แต่ เน้นความแปลกตา โดยต้องให้แตกต่างจากชาติ3 ซึ่งเป็นอนาคตเหมือนกัน
ชาติ3 จะเป็นแนวนัวร์ ๆ ทึม ๆ ส่วนชาติ4 จะเป็นโทนสว่างอบอุ่น”และ จีรยุทธ ก็เนรมิต สถานที่ นิรัชดา ให้เป็นเมืองในชาติ 4 ซึ่งเป็นฉากจบของ เรื่องนี้
ทีมงาน
สมชาย ชีวสุทธานนท์ (ตี๋ แม็ทชิ่ง) (Somchai Cheewasutthanon) (ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร Executive Producer) ผู้ชายไฟแรงที่ “เห็นคนทำงานโฆษณาดี ๆ ขึ้นไปรับรางวัล แล้วอยากทำได้บ้าง” เริ่มต้นสร้างโปรดักชั่นเฮาส์ของตัวเองด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว จาก “ออฟฟิศเคลื่อนที่” กลายมาเป็น แม็ทชิ่ง สตูดิโอ (Matching Studio) ในปีพ.ศ. 2535 โดยมี ฐนิสสพงศ์ ศศินมานพ “ดอม” ร่วมก่อตั้ง แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ใช้เวลาแค่ 10 ปีก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาระดับแนวหน้า กวาดรางวัลสูงสุดเป็นอันดับ 5 และ 10 บริษัทแรกของโลกสองปีซ้อนคือ (2544-2545) อีกความฝันของสมชายที่เพิ่งกลายเป็นความจริงในปีที่ 11 ของการก่อตั้งแม็ทชิ่ง สตูดิโอคือการตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทย แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของแม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส คือ “ซีอุย” (2547) ตามด้วยเรื่องที่สอง “ก็เคยสัญญา” (2548)
ฐนิสสพงศ์ ศศินมานพ (ดอม) (Thanissaphong Sasinmanop) (ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร - ผู้กำกับภาพชาติสาม) ตลอดระยะเวลา 13 ปีกับการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณา เริ่มต้นจากเด็กกางร่มให้กล้อง ใช้วิธีการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ศึกษาและทำความเข้าใจในทุกขั้นตอนของกองถ่ายภาพยนตร์ ก่อนก้าวขึ้นมาสู่การเป็นตากล้องถ่ายภาพยนตร์โฆษณาระดับหัวแถว เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ และ Gear Head ผู้ให้บริการอุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์ทันสมัยครบวงจร อีกทั้งยังมีส่วนในการสร้างทีมงานคุณภาพรุ่นใหม่มากมายให้กับวงการโฆษณา เมื่อประมาณ 30 ปีก่อนตอนที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เขาเคยบอกกับใครๆว่า “ผมจะเป็นช่างภาพที่เก่งที่สุดในประเทศนี้” ปัจจุบันในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย เขาประกาศย้ำอีกครั้งถึงความฝันฝังใจมาตลอดชีวิต “ขอเป็นอีกแรงในการช่วยยกระดับมาตรฐานการสร้างภาพยนตร์ของไทยสู่สากล”
สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง (Sangar Chatchairungruang) (ผู้อำนวยการสร้าง - Producer) สั่งสมประสบการณ์ด้านการตลาดและการจัดการทั้งในและต่างประเทศนานกว่า 15 ปี ร่วมงานกับบริษัทธุรกิจชั้นนำมากมาย อาทิ The Coca-Cola Export Corporation (2531-2535), M.Square Entertainment Co., Ltd. (2536-2538), Thai Image Advertising (2539-2540), Form Record (Thailand) Co., Ltd. (2541-2542) เข้าสู่วงการภาพยนตร์กับ BEC-Tero Entertainment Public Co., Ltd. (2543-2546) ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Film Bangkok ปัจจุบัน (2547) รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ Matching Motion Pictures Co., Ltd.
ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) (Theeratorn Siriphunvaraporn) (ผู้อำนวยการสร้างร่วม, ผู้กำกับภาพยนตร์-เขียนบท) คนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (เดิม) สนใจงานด้านโปรดักชั่นภาพยนตร์โฆษณาสมัยเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร เพราะเห็นว่ามีงานด้านพาณิชยศิลป์ (commercial arts) เข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มต้นดูภาพยนตร์อย่างจริงจังตอนเข้าเรียนสาขานิเทศศิลป์ ด้านโฆษณาและภาพยนตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนเลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สนใจงานด้านโปรดักชั่นเป็นพิเศษ ชื่นชอบงานด้านโปรดักชั่นภาพยนตร์เรื่อง “ดีแตก” ของผู้กำกับอดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล) ชื่นชมภาพยนตร์เรื่อง “ผีเสื้อกับดอกไม้” ที่ผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิทตีความจินตนาการได้กว้างไกลกว่าสมัยที่ตัวเองอ่านเป็นหนังสือเรียนนอกเวลา รวมไปถึงหนังเพลงฝรั่งฮอลลีวู้ดอย่าง Singing in the Rain แล้วคิดอยากทำหนังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ช่วงที่เรียนปี 4 ได้ฝึกงานด้านภาพยนตร์กับไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ทำงานโฆษณาหลังสำเร็จการศึกษา (2541-2542) ใช้เวลาว่างเขียนบทภาพยนตร์ส่งไปให้บริษัทต่างๆพิจารณา เมื่ออดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล) เรียกตัวไปช่วยงานที่อาร์เอสฟิล์ม จึงทิ้งงานประจำด้านโฆษณาเพื่อมาทำหนังโรงใหญ่เต็มตัว เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน (2541), ปาฏิหาริย์ โอม-สมหวัง (2541), โคลนนิ่ง คนก็อปปี้คน (2542), แตกสี่ รัก โลภ โกรธ เลว (2542) ก้าวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2545 ด้วยเรื่อง ๙ พระคุ้มครอง กลับมาร่วมงานกับอดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล) อีกครั้งที่ฟิล์มบางกอก เป็นที่ปรึกษาด้านบทภาพยนตร์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง องคุลิมาล (2546) ปีพ.ศ. 2547 เขียนบทภาพยนตร์ “หลวงพี่เท่ง”
ขณะนี้ นอกจาก “ก็เคยสัญญา” ธีระธร มีภาพยนตร์ ที่ เขียนบท , กำกับ คือ เสือภูเขา และ เสือคาบดาบ
ศักดิ์ชาย ดีนาน (โป๋ย) (Sakchai Deenan) (ผู้กำกับภาพยนตร์-เขียนบท - ชาติแรก) เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ สมัยเด็กชอบดูหนังกลางแปลงเป็นชีวิตจิตใจ ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นคนทำหนัง เริ่มจากการเป็นคนเขียนบทเพราะพื้นฐานชอบการอ่านการเขียน ศึกษาวิธีการเขียนบทจากบทภาพยนตร์ของผู้กำกับที่มีชื่อเสียงอย่างเชิด ทรงศรี, มานพ อุดมเดช รวมไปถึงการศึกษาวิธีการเล่าเรื่องจากการดูภาพยนตร์ต่างประเทศ เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นพนักงานประจำตำแหน่งนักเขียนบทภาพยนตร์ให้กับอาร์เอสฟิล์มส์ยุคที่มีอดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล) (Adirek Watleela - Uncle) กุมบังเหียนเมื่อปีพ.ศ.2539 ขณะอยู่ที่อาร์เอสฟิล์มส์ได้รู้จักกับธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) และดุลยสิทธิ์ นิยมกุล (ดุล) ซึ่งร่วมกันกำกับภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา” มีชื่อเป็นผู้เขียนบทร่วมภาพยนตร์เรื่อง “ฝันติดไฟหัวใจติดดิน” (2541), “ปาฏิหาริย์โอม-สมหวัง” (2541), “โคลนนิ่ง คนก็อปปี้คน” (2542) ลาออกจากอาร์เอสฟิล์มในช่วงต้นปีพ.ศ.2542 เพื่อมาเป็นนักทำหนังอิสระ เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “เชอรี่ แอน” ให้กับผู้กำกับดุลยสิทธิ์ นิยมกุล แต่สุดท้ายภาพยนตร์ฉบับนี้ไม่ได้สร้าง กลับมาร่วมงานกับอังเคิลอีกครั้งที่ฟิล์มบางกอกในช่วงปีพ.ศ.2543 ในฐานะครีเอทีฟและที่ปรึกษาด้านบทภาพยนตร์ อาทิ “บางระจัน” (2543), “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ” (2544) และ “พรางชมพู” (2545) นอกจากจะเป็นคนเขียนบทชาติแรกของ “ก็เคยสัญญา” แล้ว นี่ยังเป็นงานชิ้นแรกของศักดิ์ชายในฐานะผู้กำกับการแสดง
ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล (ดุล) (Dulyasit Niyomgul) (ผู้กำกับภาพยนตร์ - ชาติสาม) ความสุขจากการดูโทรทัศน์กับหนังกลางแปลงในวัยเด็กทำให้ดุลยสิทธิ์ นิยมกุลเด็กหนุ่มจากจังหวัดน่านใฝ่ฝันอยากเป็นคนทำหนัง จุดหักเหของชีวิตเกิดขึ้นปีพ.ศ. 2526 ช่วงที่กำลังศึกษาที่โทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ไปเที่ยวงานจุฬาฯวิชาการ เข้าร่วมการเสวนาเกี่ยวกับภาพยนตร์ของคณะนิเทศศาสตร์ที่มีสมจริง ศรีสุภาพ (คิง) เป็นแม่งาน ได้แรงบันดาลใจจากข้อคิดของคุณสุทธากร สันติธวัชนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เป็นวิทยากร ทำให้มองเห็นว่าภาพยนตร์ไม่ใช่ความบันเทิงธรรมดา แต่มีศิลปะ มีปรัชญาความคิดซ่อนอยู่ข้างใน ตัดสินใจทันทีในตอนนั้นว่าจะเป็นคนทำหนัง เริ่มศึกษาหาความรู้จากการดูภาพยนตร์ตามสถาบันวัฒนธรรมต่างๆ ช่วงปีพ.ศ.2528-2529 เป็นอาสาสมัครทำงานที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รู้จักกับผู้กำกับที่มีชื่อเสียงอย่างดอกดิน, ยุทธนา มุกดาสนิท ฯลฯ ขณะจัดเสวนาในหัวข้อ “จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ได้อย่างไร” ที่สถาบันเกอเธ ได้รับการชักชวนจากธนิตย์ จิตนุกูล (ปื้ด) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังในขณะนั้นให้ไปช่วยงาน ได้ร่วมเขียนบทเรื่อง “อย่าบอกว่าเธอบาป” (2530), “สยึมกึ๋ย” (2533) เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ในภาพยนตร์เรื่อง “ฝากฝันไว้เดี๋ยวจะเลี้ยวมาเอา” (2534) และทำงานตำแหน่งนี้มาตลอดหลังจากนั้น ช่วงปีพ.ศ. 2537-2540 เข้าทำงานที่บริษัท อาร์เอสโปรโมชั่น (1992) จำกัด แผนกภาพยนตร์ ปีพ.ศ.2538 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนัง 2 เรื่องคือ “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” กับ “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” และได้รับรางวัลจากภาพยนตร์เรื่องหลัง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ (ร่วมกับธีรวัฒน์ รุจินธรรม - เปีย) ในปีถัดมาจากเรื่อง “เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ” (2539) คว้ารางวัล Cinemag Spirit Award สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง ปีพ.ศ. 2541 ได้รับการชักชวนจากดวงกมล ลิ่มเจริญให้ไปทำงานที่บริษัทแกรมมี่ภาพยนตร์จำกัด มีส่วนในการพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง “กำแพง”, “1 ต่อ 7”, “ยุวชนทหาร” เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” (2543) กับ “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ” กลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งเรื่อง “ขวัญกับเรียม” (2544) ร่วมกับ สุทธากร สันติธวัช และ “ก็เคยสัญญา” (2548) ร่วมกับ ศักดิ์ชาย ดีนาน กับ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์
“ก็เคยสัญญา”
สร้างโดย แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส
อำนวยการสร้าง สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง
ร่วมอำนวยการสร้าง ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์)
อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร สมชาย ชีวสุทธานนท์ และ ฐนิสสพงษ์ ศศินมานพ
ที่ปรึกษา ธนิตย์ จิตนุกูล (ปื๊ด) , อดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล)
แนวความคิด กิตติกร เลียวศิริกุล (เรียว)
ชาติแรก :
กำกับภาพยนตร์ ศักดิ์ชาย ดีนาน (โป๋ย), ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์)
บทภาพยนตร์ ศักดิ์ชาย ดีนาน (โป๋ย), สมหมาย เลิศอุฬาร, ทวีวัฒน์ วันทา (คุ้ย), ขวัญชนม์ เพิ่มญาติ, ธนิตย์ จิตต์นุกูล (ปื๊ด) , อดิเรก วัฎลีลา (อังเคิล), ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) กำกับภาพ กริชชัย มงคลทรัพยา, อานนท์ จันทร์ประเสริฐโปรดักชั่นดีไซเนอร์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์นำแสดง อภินันท์ ประเสริฐวัฒนะกุล (เอ็ม), สุภาวดี อรรคนิตย์ (ฝน), สมเล็ก ศักดิกุล (เล็ก), ค่อม ชวนชื่น , ถั่วแระ
ชาติสอง :
กำกับภาพยนตร์ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์)
บทภาพยนตร์ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) , อดิเรก วัฎลีลา (อังเคิล)
กำกับภาพ อานนท์ จันทร์ประเสริฐ
โปรดักชั่นดีไซเนอร์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์
นำแสดง สุพจน์ จันทร์เจริญ (ลิฟท์), วิชัย จงประสิทธิ์พร (เอก), อชิตะ สิกขมานา (อิม) สมเล็ก ศักดิกุล (เล็ก)
ชาติสาม :
กำกับภาพยนตร์ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล (ดุล)
บทภาพยนตร์ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์)
กำกับภาพ ฐนิสสพงษ์ ศศินมานพ
โปรดักชั่นดีไซเนอร์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์
นำแสดง ปวริศร์ มงคลพิสิฐ (แบงค์), ปลาคาร์ฟ เชิญยิ้ม, ภิสารัตน์ วัชรคีรินทร์ (แพร), สมเล็ก ศักดิกุล (เล็ก)
ชาติสี่ :
กำกับภาพยนตร์ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์)
บทภาพยนตร์ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) , อดิเรก วัฏลีลา (อังเคิล)
กำกับภาพ ชูชาติ นันทิธัญญธาดา
โปรดักชั่นดีไซเนอร์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์
นำแสดง วรุฒ วรธรรม (โอ), พิชญ์นาฏ สาขากร (เมย์) , สมเล็ก ศักดิกุล (เล็ก)
บทเพลงประกอบภาพยนตร์
“ก็เคยสัญญา”
ด้วยคอนเซ็ปท์ของภาพยนตร์เรื่อง “ก็เคยสัญญา” ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติก
คอมเมอดี้ เรื่องราวของคนสองคนที่เป็นคู่แท้และสัญญารักกันในทุกชาติ.........
แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส” ผู้สร้างภาพยนตร์ ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีความรักที่มั่นคงและเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างด้วยหัวใจที่อ่อนโยน เราได้รับความร่วมมือจากบรรดาศิลปินผู้มีชื่อเสียงและเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง มอบบทเพลงสุดหวงและเป็นอมตะ เพื่อนำมาใช้เป็นเพลงประกอบและโปรโมทในภาพยนตร์เรื่อง “ก็เคยสัญญา”
(เพลงโปรโมทภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา”)
เพลง: “ก็เคยสัญญา”
ศิลปิน: “ป้อม-อัสนี โชติกุล”
(เพลงโปรโมทภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา”)
เพลง: “คู่กัน”
ศิลปินวง: “ SCRUBB ” (สครับ)
(เพลงประกอบภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา” ในชาติที่ 1)
เพลง: “น้อยใจยา”
ศิลปิน: “จรัล มโนเพ็ชร” และ “สุนทรี เวชชานนท์”
(เพลงประกอบภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา” ในชาติที่ 2)
เพลง: “โอ้รักกันหนอ”, “ทะเลไม่เคยหลับ”, “เริงรถไฟ”
ศิลปินวง: “ดิอิมพอสซิเบิล”
(เพลงประกอบภาพยนตร์ “ก็เคยสัญญา” ในชาติที่ 3)
เพลง: “สุดแสนเสียดายหัวใจจะขาด”
ศิลปิน: “ชาย เมืองสิงห์”
เพลง: “รักนี้มีกรรม”
ศิลปิน: “สัญญา พรนารายณ์”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version