ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้กำหนดโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ในระยะเร่งด่วนที่เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) สู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล (กศน.ตำบล) และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศ โดยจะให้บริการบรอดแบนด์ พร้อม Free Wi-Fi แก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และจะขยายสู่ชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2 ปี โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 2,000 แห่ง เพื่อให้บริการการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อบรมให้ความรู้ พัฒนาทักษะ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับในเขตเมืองใหญ่ เน้นการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้ได้มีการลงพื้นที่และสำรวจความต้องการในจังหวัดนำร่อง คือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์คลัสเตอร์ด้านศูนย์กลางดิจิทัลของรัฐบาลด้วย รวมทั้งมีโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการภาครัฐโดยตรง ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เน้นการปรับกระบวนการดำเนินงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น บูรณาการข้อมูลและระบบงานภาครัฐ ลดสำเนากระดาษในการให้บริการประชาชน (Smart Service) พัฒนาศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) และตู้บริการประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Box) เป็นต้น
"ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยองค์กรท้องถิ่นจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึง เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการบริหารจัดการองค์การท้องถิ่นของตนเองและให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเก็บข้อมูลในท้องถิ่น เช่น ข้อมูลประชาชน เกษตร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ การเปิดเผยข้อมูลท้องถิ่น จะทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ รวมทั้งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการรัฐบาลท้องถิ่นที่มีความโปร่งใส และลดปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศได้อีกด้วย" นางทรงพร กล่าว