กรมสุขภาพจิตเปิดบ้านศรีธัญญา ชวนสังคมสร้างโอกาสและความหวังเสริมพลังให้กับคนพิการ ชูคำขวัญ “ไม่ว่าใครก็สำคัญต้องช่วยกันดูแลให้เข้าถึงบริการและส่งเสริมศักยภาพ”

อังคาร ๐๘ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๐๗
นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" เพื่อเน้นย้ำให้ทั่วโลกตระหนักถึงคนพิการ สิทธิคนพิการ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ที่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างสมบูรณ์ร่วมกัน โดยปีนี้ กำหนดคำขวัญในระดับสากลว่า "Inclusion matters : access and empowerment of people of all abilities" หรือ "ไม่ว่าใครก็สำคัญต้องช่วยกันดูแลให้เข้าถึงบริการและส่งเสริมศักยภาพ" ทั้งนี้ จากข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ณ วันที่ 2 พ.ย.2558 ประเทศไทยมีผู้พิการ จำนวน 1,675,753 คน เป็นเพศชาย 899,974 คน เพศหญิง 775,779 คน โดยเกือบครึ่งเป็นผู้พิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวมากที่สุด จำนวน 819,807 คน (ร้อยละ 48.92) ในขณะที่มีผู้พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 114,788 คน (ร้อยละ 6.84) ผู้พิการทางสติปัญญา 114,237 คน (ร้อยละ 6.81) ผู้พิการทางการเรียนรู้ 6,531 คน (ร้อยละ 0.38) และ ออทิสติก 7,538 คน (ร้อยละ 0.44 )

นายแพทย์ศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้พิการในการดูแลของ รพ. สังกัดของกรมสุขภาพจิต มี 4 ประเภท ได้แก่ ผู้พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม และสติปัญญา ผู้พิการทางกาย และออทิสติก เป้าหมาย คือ การให้ผู้พิการคืนสู่สุขภาวะและสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้ด้วยตัวเอง กระบวนการนี้แบ่งเป็นการฟื้นฟูใน รพ. และการฟื้นฟูในชุมชน สำหรับการฟื้นฟูใน รพ.จะประกอบด้วย การบำบัดทางการแพทย์ การบำบัดทางจิตสังคมและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช ตัวอย่าง เช่น การฝึกทักษะในการดูแลตนเอง การฝึกทักษะในการแก้ปัญหา กิจกรรมบำบัดเพื่อแก้ความบกพร่องเฉพาะด้าน การฝึกทักษะทางอาชีพ การเป็นพี่เลี้ยงในการฝึกอาชีพ การทดลองจ้างงาน ส่วนการฟื้นฟูในชุมชน จะประกอบด้วยการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายของคนพิการ พัฒนาศักยภาพญาติและผู้ดูแล การเสริมสร้างความรู้แก่ชุมชนและสังคมในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของคนพิการ นอกจากนี้ได้ร่วมกับทีมของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้พิการกลุ่มต่าง ๆ เพื่อวางแผนในการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้พิการต่อไป การเชื่อมโยงกองทุนฟื้นฟูผู้พิการระดับจังหวัด ผ่านชมรมแต่ละจังหวัดเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพให้ผู้พิการในแต่ละจังหวัด จะเห็นได้ว่างานและการจ้างงานเป็นสิ่งสำคัญ ในการสร้างโอกาสและความหวังและเสริมพลังให้กับคนพิการ ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป ในการตัดสินใจเรื่องอาชีพได้โดยอิสระ ได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน และทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการให้โอกาสให้ความหวังและเสริมสร้างพลังให้กับคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยทาง รพ.ศรีธัญญา นอกจากจะฝึกอาชีพให้กับผู้ป่วยแล้วยังให้โอกาสได้ทำงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ พื้นที่โดยรอบ รพ.ศรีธัญญา จะประกอบด้วยร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของใช้สวยงาม ร้านอาหาร รับล้างรถ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำร้านเคยเป็นผู้ป่วยของ รพ.

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ รพ.ศรีธัญญา กล่าวเสริมว่า กรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลศรีธัญญาเห็นความสำคัญของผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวเป็นอย่างมาก ว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้มารับบริการ แต่ถือเป็นผู้ที่เดินเคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกัน 10 กว่าปีมาแล้ว โดย รพ.ศรีธัญญา ได้รวบรวมญาติพี่น้องและผู้ป่วยจิตเวชมารวมตัวกันเป็นชมรมผู้บกพร่องทางจิต ซึ่งเป็นตัวแทนผู้พิการทางจิตของประเทศไทย และได้ดำเนินการก่อตั้งชมรมผู้ป่วยทั่วประเทศจนมีทั้งหมด 216 ชมรม ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั้งนี้ ชมรมผู้พิการทางจิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยให้กำลังใจกัน และช่วยให้ผู้พิการได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งได้รับโอกาสในการทำงาน โดยเฉพาะปี 2557-2558 ที่ผ่านมา รพ.ศรีธัญญา ได้รับมอบหมายจากกรมสุขภาพจิต ให้ทำงานอย่างเข้มข้นในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้พิการ เช่น จัดทำคู่มือภาคประชาชน ให้สมาชิกชมรมได้ใช้เพื่อให้กำลังใจแก่กัน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการร้านเพื่อนและโครงการทดลองจ้างงานมานานกว่าสิบปี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีคนที่เข้าโครงการนี้ 169 คน 43 คนได้รับโอกาสจ้างงาน ในหน่วยงานองค์กร และห้างร้านต่างๆ ในสังคม การสร้างโอกาสให้กับคนพิการทางจิต จึงไม่ใช่การทำงานเพียงส่วนราชการเท่านั้น จำเป็นต้องทำงานคู่กันกับเจ้าของปัญหาด้วย ทั้งผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และสังคม เพื่อสร้างโอกาส ให้ผู้พิการมีความหวัง กลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อันเป็นภารกิจของสังคมที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน สำหรับขั้นตอนในการฝึกอาชีพ จะประกอบไปด้วย การพูดคุยให้ผู้พิการรู้ว่าที่นี่มีโครงการแบบนี้ที่จะให้โอกาสให้เขาได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้รับโอกาสในการจ้างงาน และจะมีทีมประเมินความสามารถของผู้พิการว่าอยู่ระดับใด มีการฟื้นฟูจนกระทั่งมาถึงจุดที่เขาพร้อมจะทำงานแล้ว กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ก็จะเป็นผู้ที่หาแหล่งทรัพยากรในสังคม ว่ามีบริษัทใด ที่ไหน จะจัดจ้างผู้พิการของเรา แล้วทำการ Job coach จนกระทั่งได้งานนั้น และอยู่ในงานนั้นได้อย่างมั่นคง โดยรพ.ยังคงเป็นพี่เลี้ยงให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานส่วนใหญ่ยังต้องทานยาอยู่ เพราะ อาการเจ็บป่วยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา ที่จะต้องทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบและป้องกันไม่ให้อาการทั้งหลายมารบกวนต่อการทำงานผู้ป่วยจิตเวช

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ