นพ.วชิระ เพ็งจันทร์อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุไทยประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ 80% เป็นผู้สูงอายุยังดูแลตัวเองได้ ต้องการการพึ่งพิงค่อนข้างจะน้อย ไม่ว่าจากครอบครัว ญาติพี่น้อง สังคม ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อีกประมาณ 20% หรือ 1 ล้านคนเศษ เป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงซึ่งต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้กรมอนามัยจะดูแลเป็นพิเศษตามที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบเป็นนโยบายและจัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล(Long Term Care ) ตามแนวคิด "สังคมไทย ใส่ใจผู้สูงวัย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้"
โดยกรมอนามัยได้พัฒนาระบบการดูแล พัฒนาผู้จัดการระบบ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน ที่ทำงานด้านการดูแลและการส่งเสริมสุขภาพโดยร่วมมือกับท้องถิ่นเช่น เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. ซึ่งจะดูแลเรื่องสังคม เรื่อง การกิน การอยู่ บ้าน ที่อาศัย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และร่วมกับทางฝ่ายสาธารณสุขในพื้นที่ดูแลเรื่องสุขภาพโดยผู้จัดการระบบหรือ Care manager และได้มีการสร้างผู้ดูแลที่มีคุณภาพพร้อม ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 420 ชั่วโมงของกรมอนามัย เรียกว่า Care giver เนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงโดยให้ญาติหรือผู้มีจิตอาสาดูแลอาจไม่ทั่วถึง จึงมั่นใจได้ว่า Care giver จะสามารถดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้เป็นอย่างดี ช่วยลดภาระของญาติ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐด้วย