ประเมินผลกระทบจากการปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยโดย FAA ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไม่มากนัก ไม่มีนัยยสำคัญต่อรายได้ของธุรกิจการบินและภาคการท่องเที่ยวระยะสั้นแต่ส่งผลเสียหายต่อความเชื่อมั่นระบบมาตรฐานการบินและธุรกิจการบินสัญชาติไทย EASA น่าจะปรับลดมาตรฐานการบินของไทยและจะมีผลกระทบรุนแรงกว่า FAA เพราะจะมีมาตรการลงโทษต่อเนื่องหลังถูกลดมาตรฐานการบิน อาจมีผลต่อฐานะทางการเงินของการบินไทยเนื่องจากมีรายได้ หนึ่งในสาม ที่อาศัยจากตลาดยุโรป ผลกระทบจากการปรับลดมาตรฐานการบินจะมีผลโดยตรงต่อธุรกิจการบินมากกว่าผลต่อรายได้การท่องเที่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้สายการบินอื่นทดแทนสายการบินของไทยได้
13.00 น. 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปลายปีต่อเนื่องต้นปีหน้าปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา การถูกปรับลดมาตรฐานการบินของไทยโดย FAA (Federal Aviation Administration) ของสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดมาตรฐานการบินจาก EASA (European Aviation Safety Agency) ของยุโรปในเร็วๆนี้ (10 ธ.ค.)
ประเมินผลกระทบจากการปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยโดย FAA ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไม่มากนัก ไม่มีนัยยสำคัญต่อรายได้ของธุรกิจการบินและภาคการท่องเที่ยวระยะสั้นแต่ส่งผลเสียหายต่อความเชื่อมั่นระบบมาตรฐานการบินและธุรกิจการบินสัญชาติไทย EASA น่าจะปรับลดมาตรฐานการบินของไทยและจะมีผลกระทบรุนแรงกว่า FAA เพราะจะมีมาตรการลงโทษต่อเนื่องหลังถูกลดมาตรฐานการบิน อาจมีผลต่อฐานะทางการเงินของการบินไทยเนื่องจากมีรายได้ หนึ่งในสาม ที่อาศัยจากตลาดยุโรป ผลกระทบจากการปรับลดมาตรฐานการบินจะมีผลโดยตรงต่อธุรกิจการบินมากกว่าผลต่อรายได้การท่องเที่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้สายการบินอื่นทดแทนสายการบินของไทยได้
EASA มักจะมีการดำเนินการบางอย่างหลังการปรับมาตรฐานการบิน อย่างเช่น การขอให้บริษัทเอเยนต์แจ้งผู้ซื้อตั๋วชาวยุโรปไม่ให้ใช้บริการสายการบินของประเทศนั้น เพิ่มข้อจำกัดสายการบินประเทศนั้นบินเข้า EU หาก EASA ปรับลดมาตรฐานการบินแบบ FAA ย่อมส่งผลกระทบและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในไทย และ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในทางอ้อม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากยุโรปคิดเป็น 18% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยน่าจะขยายตัวได้ดีเนื่องจากไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวจากทั่วโลก และ ตนคาดว่า การบินไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากได้รับการรับรองจาก IATA ด้านมาตรฐานความปลอดภัย (IATA Operational Safety Audit) และปัจจัยนี้น่าจะทำให้ผลกระทบและความเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวลดลง
ผศ. ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยกว่า 30 ล้านคน สัดส่วนประมาณ 60% ใช้บริการธุรกิจการบิน และรายได้ภาคการท่องเที่ยวปีนี้อาจจะสร้างรายได้กว่า 1.4 ล้านล้านบาทในสถานการณ์ที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆยังคงไม่กระเตื้องขึ้นดีนัก วิกฤติมาตรฐานการบินจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของการท่องเที่ยวของไทยปีหน้าไม่ใช่ปีนี้ เพราะผลกระทบบางส่วนยังไม่ส่งผลในระยะสั้น ไทยต้องหันมาสำรวจข้อบกพร่องและแก้ไขยกระดับให้ได้มาตรฐานโลกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศและส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยว นอกจากปัญหามาตรฐานการบินแล้ว ขอให้รัฐบาลและกรมเจ้าท่าพัฒนามาตรฐานโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของท่าเรือและเรือของไทยให้ดีขึ้นและต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศหรือไอเอ็มโอที่จะประกาศในปีหน้า ทางการไทยควรให้ความสำคัญต่อการเข้าตรวจสอบท่าเรือไทยของ US Guard เมื่อเร็วๆนี้ มีอะไรที่ต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของไทยมากหลังจากที่ประเทศไทยถูกลด
อันดับความน่าเชื่อถือเรื่องมาตรฐานการบินจาก ไอเคโอ เอฟเอเอ และถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ หากไทยไม่ผ่านมาตรฐานท่าเรือและเรือเข้าสหรัฐอเมริกาจะทำให้ต้นทุนขนส่งไทยสูงมาก กระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เพราะเรือจะถูกกักที่ท่าเรือนานขึ้น มีการตรวจสอบเข้มงวดไม่ใช่เพียงแค่สุ่มตรวจ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจได้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเอาใจใส่ต่อเรื่องดังกล่าวมากเป็นพิเศษ การปรับลดมาตรฐานและอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในหลายๆเรื่องมีมูลเหตุจูงใจเพื่อกดดันไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ยากที่จะคาดเดา แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ ปัญหาหลายอย่างได้สะสมมานานและไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานตามระยะเวลาโดยเฉพาะมีหลายเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตรับสินบนและการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพรวมทั้งความไม่เพียงพอของงบประมาณ
ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกานั้น ตลาดการเงินได้ปรับฐานจากการคาดการณ์ไประยะหนึ่งแล้ว จึงไม่น่ามีผลต่อความผันผวนของค่าเงิน ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มากนัก แต่แน่นอนว่าจะมีเงินไหลออกกลับไปถือตราสารหนี้และพันธบัตรในรูปสกุลดอลลาร์มากขึ้น และ น่าจะทำให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น