ดังนั้น APAARI ร่วมกับ Australian Center for International Agricultural Research(ACIAR),Food and Agriculture Organization(FAO),Global Forum for Agricultural Research(GFAR) และ International Food Policy Research Institute (IFPRI) จึงได้จัดประชุมหารือเชิงนโยบายระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการลงทุนในการวิจัยทางการเกษตรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (High Level Policy Dialogue on Investment in Agricultural Research for Sustainable Development in the Asia-Pacific Region) ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพและสถานภาพในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มระดับการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ตลอดทั้งเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรสมาชิก APAARI จำนวน 61 องค์กร ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย รัฐมนตรี เกษตรกรยุคใหม่ และผู้แทนจากองค์กรวิจัยและพัฒนาจากประเทศเอเชียและแปซิฟิก ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาชุมชน กลุ่มเกษตรกร ผู้แทนจากองค์กรวิจัยนานาชาติ และมูลนิธิการพัฒนา รวมประมาณ 140 คน
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประเมินศักยภาพด้านการผลิต และระดับของการลงทุนในการวิจัยทางการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้กำหนดนโยบาย และส่งเสริมให้การลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยมีการวางเป้าหมายไปจนถึงปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรมีปริมาณอาหารเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับความต้องการของประชากร รวมทั้งไทยควรจะลงทุนงานวิจัยด้านการเกษตรกี่เปอร์เซ็น และควรขยายการลงทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ต้องการให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์และความสำคัญของการพัฒนางานวิจัย โดยภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการเข้ามาลงทุนและร่วมพัฒนางานวิจัยไปกับภาครัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิก APAARI ทราบถึงศักยภาพและบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเกิดความร่วมมือในด้านงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นเวทีให้นักลงทุนและองค์กรวิจัย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบปะหารือในการวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป