1. ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นพ้องว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ในระดับปานกลาง เนื่องจากมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับในระยะต่อไป มีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการอ่อนค่าของสกุลเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ขณะเดียวกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อมุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) จึงได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงดังกล่าวและเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น
2. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 มีขนาดวงเงินช่วยเหลือรวม 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้พิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเพียงพอและทันท่วงที โดยเฉพาะการพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มสัดส่วนความช่วยเหลือที่ไม่เชื่อมโยงกับการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund De-linked Portion) จากปัจจุบันที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของจำนวนเงินช่วยเหลือสูงสุดที่แต่ละประเทศจะได้รับภายใต้กลไก CMIM
3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ AMRO เพื่อให้สามารถทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และเฝ้าระวังเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบัน การดำเนินการ เพื่อยกระดับ AMRO ให้มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศมีความคืบหน้าอย่างมาก และคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในต้นปี 2559 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 และถือเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 8 ที่ได้ให้สัตบายันความตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงของ AMRO ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการ AMRO ที่จะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2559 และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ ได้แก่ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ 2 ตำแหน่ง และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ 1 ตำแหน่ง
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI)ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออม โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ การดำเนินงานของdลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งได้ค้ำประกันตราสารหนี้ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ และความสำเร็จโครงการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Multi-Currency Bond Issuance Framework: AMBIF) ที่ได้เริ่มใช้ใบคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้แบบเดียว (Single Submission Form) ในการยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทยของธนาคารมิซูโฮ เป็นจำนวนเงิน 3,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558
อนึ่ง ในช่วงระหว่างการประชุม ปลัดกระทรวงการคลังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมหารือทวิภาคีกับนาย Shi Yaobin ปลัดกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน และนาย Masatsugu Asakawa ปลัดกระทรวงการคลังด้านต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างทั้งสองฝ่าย