K-Expert We Share ถอดรหัสรวยปีวอก โดย วีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

พฤหัส ๑๐ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๕๐
K-Expert ร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตและการวางแผนการเงิน ถึงทิศทางเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศในปี 2559 ประกอบด้วย

1. ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในลักษณะ "ดีขึ้นแบบระมัดระวัง" โดยคาดว่าดัชนีมวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะอยู่ที่ 3% สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี กรอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ

ในมุมของการลงทุน ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจ แม้อาจจะไม่ดีเท่ากับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม LTF แต่ด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก

2. แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการฟื้นตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากเส้นทางการฟื้นของหลายๆ ประเทศยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะจีนและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

· เศรษฐกิจสหรัฐ อาจขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ GDP อยู่ที่ 2.4% สำหรับปัจจัยที่ส่งผลดีนั้น ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ในปี 2559 คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ

· เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน ยังคงต้องพึ่งพาแรงหนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE

· เศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจขยายตัวดีขึ้นกว่าในปี 2558 ที่ได้รับผลกระทบหลักจากการขึ้นภาษีการขาย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เห็นได้จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

· เศรษฐกิจจีน อาจขยายตัวแบบชะลอตัว ในช่วงที่ทางการจีนเดินหน้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สำหรับปี 2559 ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว

3. แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2559 ขณะที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ และในปีหน้า อยู่ที่ 0.5%-1%

ในมุมของผู้บริโภคต่อทิศทางดอกเบี้ยไทย ผู้ที่กำลังตัดสินใจขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือผู้ที่กำลังจะ Refinance อาจเลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ในมุมของการลงทุน ระยะสั้นอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่การลงทุนระยะกลางถึงยาวนั้น แนวโน้มผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้ระยะกลางมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนั้น แนะนำให้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี ขึ้นไปลงในปีหน้า

4. ค่าเงินบาท

ทิศทางค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยคาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงสู่ระดับ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีนี้ และอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปี 2559

การอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว และจะกระทบกับคนไทยที่ต้องการใช้จ่ายเงินในต่างประเทศเช่น กลุ่มผู้ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชาวไทย หรือกลุ่มผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ที่จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น

5. Mega Trend ที่สำคัญในปี 2559

· Regional Integration

· Internet of Thing (IoT)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภายในปี 2563 อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตได้ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 32 พันล้านชิ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ ปัจจุบัน IoT ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น จัดไฟแสงสว่างสำหรับอาคารสถานที่ การควบคุมการจราจร รวมไปถึงการวัดการหกล้มและการดูแลอย่างอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น

ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่เริ่มพัฒนาออกมารองรับ เช่น wristband ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ทำให้ผู้สวมใส่สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบต่างๆ ภายในรางกาย และข้อมูลนี้อาจส่งต่อไปยังแพทย์ได้แบบทันทีหากเกิดอาการความดันโลหิตสูง แพทย์ก็สามารถเขียนใบสั่งยาให้ได้ทันที พร้อมกับจัดส่งยามาถึงบ้านผู้ป่วยได้ในภาย 24 ชั่วโมง หรือตู้เย็นที่สามารถปรับอุณหภูมิได้ด้วยตนเองตามประเภทอาหารที่แช่ และสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนได้ว่าวัตถุดิบใดที่ใกล้จะหมดแล้ว

· "แก่-จน-เป็นหนี้"

โครงสร้างประชากรมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในลักษณะ "แก่-จน-เป็นหนี้" กล่าวคือ

1) Aging Society ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)" ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ คำถามที่ตามมาคือ ภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมด้านสวัสดิการสังคมได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ธุรกิจที่อาจเกิดใหม่เพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุจะมีทิศทางอย่างไร และเราจะเตรียมรับมืออย่างไร โดยเฉพาะการวางแผนเกษียณสำหรับตัวเอง

2) Labor Mismatch Problem หรือ ปัญหาแรงงานที่จบการศึกษาไม่ตรงตามความต้องการของตลาด จากสถิติ กว่า 80% ของผู้จบการศึกษาใหม่ในแต่ละปี อยู่ในสาขาที่เผชิญปัญหาแรงงานล้นตลาด ยกตัวอย่างเช่น ตลาดแรงงานต้องการผู้ที่จบการศึกษาด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Programmer) ในขณะที่นักศึกษาจบใหม่ส่วนใหญ่ แม้จะจบมาในสาย IT แต่เป็นการเรียนด้าน IT Strategic ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น

3) Household Debt หรือ การก่อหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง สาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งเอื้อต่อการก่อหนี้ ความต้องการกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมหลังน้ำท่วมปี 2554 และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน

จากภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า ถือว่ามีแนวโน้มดีกว่าปี 2558 แต่ต้องอยู่บนความระมัดระวัง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ คำแนะนำสำหรับการจัดการเงินอาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

· การออม คาดว่าราคาค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาอาหารที่แพงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งในประเทศ แนะนำให้เก็บเงินให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยควรมีการกันเงินสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉินไว้ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือนของครอบครัว

· การลงทุน สำหรับการลงทุนในประเทศ ยังได้รับแรงหนุนจากกองทุน LTF ที่มีการต่อนโยบายการลดหย่อนภาษีออกไป โดยภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ดี แต่อาจไม่ร้อนแรงเท่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างจำกัด โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ อาทิ ก่อสร้าง ขนส่ง สื่อสารโทรคมนาคม ส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

ทั้งนี้ แนะนำให้มีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และแนะนำให้ลงทุนในตลาดสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

· การกู้ / ขอสินเชื่อ จากทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้า ผู้ที่กำลังจะการขอสินเชื่อใหม่หรือ Refinance แนะนำให้เลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

· การวางแผนเกษียณ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)" หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ ดังนั้น แนะนำให้เริ่มวางแผนจัดการเงินเพื่อเกษียณ โดยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมด้วยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ทั้งการออม ลงทุน และประกันชีวิต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version