พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินโครงการเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่น แก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบากและผู้อยู่ในภาวะยากลำบากที่ประพฤติตนดีเด่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบคุณงามความดีที่ดูแลช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และเพื่อส่งเสริมเจตคติเชิงบวกในการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ด้อยโอกาส เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๔ ประเภท ได้แก่ ๑) บุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ๒) องค์กรที่ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ๓) สื่อที่นำเสนอกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก และ ๔) บุคคลผู้อยู่ในภาวะยากลำบากที่สามารถดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี ๒๕๕๘ มีการเสนอประวัติและผลงานของ บุคคล องค์กร สื่อ และผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก เข้ารับการพิจารณาคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและคัดเลือกบุคคลผู้มีประวัติและผลงานดีเด่น เพื่อเข้ารับประทานรางวัลและเข็มเชิดชูเกียรติจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โดยจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ ๑ บุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก จำนวน ๑๑ ราย ประเภทที่ ๒ องค์กรที่ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก จำนวน ๓ ราย ประเภทที่ ๓ สื่อที่นำเสนอกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก จำนวน ๑๙ ราย และประเภทที่ ๔ บุคคลผู้อยู่ในภาวะยากลำบากที่สามารถดำรงชีวิต เป็นแบบอย่างควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน ๓๓ ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น ๖๖ ราย