สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและการพูดนั้น สพฉ. ได้จัดทำโครงการร่วมกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและการพูด สามารถสื่อสารขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ โดยหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถแจ้งเหตุผ่านแอพพลิเคชั่น TTRS Video ของศูนย์ล่ามภาษามือ หรือสื่อสารผ่านตู้ TTRS ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 120 ตู้ ทั่วประเทศ ทั้งในสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า และสถานีขนส่งมวลชน โดยผู้บกพร่องทางการได้ยินสามารถใช้ภาษามือสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านวิดีโอคอลได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นจะมีการประสานงานต่อมายังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ของแต่ละจังหวัด เพื่อซักประวัติอาการ และระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุ รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งจัดส่งทีมผู้ปฎิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินไปให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ สพฉ. ยังมีการพัฒนาแอพลิเคชั่น EMS1669 หรือแอพลิเคชั่นเรียกรถพยาบาลด้วย โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถกดเรียกรถพยาบาล แจ้งอาการและพิกัดที่อยู่ได้ทันที รวมทั้งยังมีการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะรอทีมแพทย์มาช่วยเหลือ ข้อมูลโรงพยาบาลใกล้เคียง และข้อมูลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น การแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่ลำบากมากนักเพราะสามารถสื่อสารโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ได้ตามปกติ แต่ที่สำคัญคือต้องผู้แจ้งจะต้องจดจำคือข้อควรรู้ 9 ข้อ ก่อนแจ้งเหตุฉุกเฉินให้ได้ คือ 1.ตั้งสติ และโทรแจ้งสายด่วน 1669 2.ให้ข้อมูลลักษณะเหตุการณ์ ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไร หรือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะใด
3.บอกสถานที่เกิดเหตุ 4.บอกเพศ อายุ จำนวนผู้บาดเจ็บ 5.บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ 6.บอกความเสี่ยงซ้ำ 7. แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อกลับ 8.ช่วยเหลือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ 9.รอชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับข้อมูลคนพิการในขณะนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้สรุปข้อมูลคนพิการล่าสุดว่ามีจำนวนทั้งสิ้น1,606,919 คน แบ่งเป็น เพศชาย 861,852 คน และเพศหญิง 745,067 คน