นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product) OPOAI เกิดขึ้นจากความพยายามของภาครัฐที่ได้น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 มาปรับใช้ เพื่อยกระดับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินงานผ่านแผนพัฒนาที่ถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมตลอดโซ่อุปทาน (Supply) ทั้ง 6 ด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแก้ไขปัญหา ได้อย่างถูกต้องสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ประกอบด้วย การบริหารจัดการโลจิสติกส์, การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน, การลดต้นทุนพลังงาน, การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐาน, กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในช่วงต้น โดยการเชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการ OPOAI ซึ่งในปีแรกเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจว่า ทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร แต่เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเชิงรุก และให้คำปรึกษาเป็นระยะจนกระทั่งได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัดที่กำหนด และใช้งบประมาณไม่มากปีละ 72 ล้านบาท แต่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้เป็นหลักร้อยและหลักพันล้านบาท จนกระทั่งในปีต่อ ๆ มาโครงการได้รับการยอมรับเป็นที่รู้จักมากขึ้น
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,041 ราย และเพื่อเป็นการติดตาม ให้กำลังใจจึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ภาคกลาง โดยได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท ซัมเมอร์สปริง จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มจากพืช ผักและผลไม้ ยี่ห้อ P-Fresh ตั้งอยู่ที่ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม, บริษัท ขนมไทยพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตขนมทองม้วน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยทั้ง 2 บริษัท อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร
นางสาวนิสากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมสถานประกอบการเพื่อติดตามให้กำลังใจ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องภารกิจเร่งด่วนในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งในระดับจุลภาคมากขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างสถาบันครอบครัว ที่อบอุ่น ชุมชุนมีความเข้มแข็ง
ด้านนายทวีศักดิ์ เอกศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมเมอร์สปริง จำกัด สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI กล่าวว่า บริษัทดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มจากพืช ผักและผลไม้ ยี่ห้อ P-Fresh เข้าร่วมโครงการประเภทแผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต การทำงานของโรงงาน ตลอดทั้งระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานโดยบุคลากรและเครื่องจักร เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดของเสีย ลดต้นทุน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันภายหลังเข้าร่วมโครงการ OPOAI สามารถลดระยะเวลาในการผลิตได้ถึง 14.28% โดยผลิตได้มากขึ้น 2.7 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดปริมาณเนื้อวุ้นในผลิตภัณฑ์น้ำใบเตยตราพีเฟรชให้ลดลงได้ถึง 11.69% โดยคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นถึง 348,840 บาท ต่อปี ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าสินค้าของบริษัทมีคุณภาพที่ดีขึ้น ระบบการบริหารจัดการดีขึ้น มีการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตทำให้ต้นทุนลดน้อยลง ผลิตได้มากขึ้น และปริมาณของเสียก็ลดลงเช่นเดียวกัน
ด้านนางสุกัญญา กิจสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมไทยพัฒนา จำกัด 1 ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI กล่าวว่า บริษัทดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าขนมทองม้วน โดยใช้ตราสินค้าว่า "ไทยพัฒนา" เข้าร่วมโครงการ OPOAI ประเภทแผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแผนงานที่ 5 การจัดทำระบบมาตรฐานสากล GMP/HACCP โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับระบบการทำงานในขบวนการผลิตให้มีความสะดวกมากขึ้น และจากการเข้าร่วมโครงการได้ระยะหนึ่งที่ปรึกษาได้ให้ข้อแนะนำให้ทดลองปรับกระบวนการในการบรรจุสินค้าใหม่ โดยตัดขั้นตอน ในการบรรจุถุงพลาสติก 2.5 กิโลกรัมออกไป มาบรรจุขนมทองม้วนลงในถาดพลาสติก สามารถชั่งน้ำหนักได้ตามกำหนด ใส่ซองฟรอยด์แล้วซีล จากนั้นจึงนำไปจัดเก็บบนชั้นทำการติดป้าย ในขั้นตอนชี้บ่งเพื่อรอเพ็คใส่กล่องเมื่อมีคำสั่งซื้อ และด้วยวิธีการใหม่นี้ทำให้สามารถลดการสูญเสียลง อีกทั้งยังเป็นการรักษาสภาพของขนมทองม้วนให้สวยงาม และยังคงเก็บกลิ่นหอมของขนมทองม้วนไว้ได้อีกด้วยสามารถลดการใช้ถังพลาสติกลงได้ เนื่องจากไม่ต้องทำการจัดเก็บในถุงเพื่อรอการบรรจุอีกต่อไป
โดยสามารถผลิตขนมทองม้วนได้มากขึ้น 18.5% คิดเป็นมูลค่าเดือนละ 553,150 บาท และสามารถลดต้นทุน ในการผลิตได้ถึง 56,304 บาทต่อปี หรือมีกำลังการผลิตทองม้วนประมาณ 200 ตัน/ปี