ถอดบทเรียนจากค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ ปลุกจิตสำนึกให้เยาวชน

พุธ ๑๖ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๔๐
จากจำนวน 17 รุ่นที่ผ่านมาของนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์เอกตราที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชน ทำให้ผลผลิตของนักเรียน "โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา" แห่งนี้ได้มีโอกาสได้ฝึกทักษะและต่อยอดทางความคิดในการเป็นผู้นำให้กับเยาวชน ภายใต้ความหวังให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ได้เติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรงและเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในอนาคต กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาความเป็นผู้นำโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ได้ลงพื้นที่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้กิจกรรม "ค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนปีที่ 18" กิจกรรมนี้จะมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมปีที่ 5 จำนวน 70 คน ลงพื้นที่กระจายกันไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวใหม่ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวในชนบทเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แยกตามสีของโรงเรียน ได้แก่ สีฟ้า สีม่วง สีเขียว และสีเหลือง ลงพื้นที่เข้าไปสอนหนังสือพร้อมกับพัฒนาโรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนบ้านกาด (เขมวังศ์) 2.โรงเรียนบ้านใหม่สวรรค์ 3.โรงเรียนบ้านเหล่าป่าฝาง และ4.โรงเรียนวัดทุ่งศาลา

โดยแต่ละกลุ่มแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายพัฒนา ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนันทนาการ ซึ่งฝ่ายพัฒนาจะทำหน้าที่ในการปรับปรุงโรงเรียนให้น่าอยู่ อาทิ ทาสีรั้วโรงเรียนใหม่ // ซ่อมแซมห้องสมุด // ทำพื้นสนามให้สะอาด และปรับเปลี่ยนห้องพยาบาลให้ถูกหลักอนามัย ในด้านวิชาการแต่ละกลุ่ม จะต้องทำแผนการสอนทั้ง 4 วิชา เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่เมื่อมาผ่านขั้นตอนการสอนจริง ๆ ทำให้รู้ว่า น้อง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้ภาษาอังกฤษ จึงต้องวางแผนใหม่ เพี่อให้น้อง ๆ ได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนในครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของฝ่ายนันทนาการได้ทำตามหลักสูตรของกระทรวงการศึกษาธิการให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเริ่มจากการละลายพฤติกรรมและจัดกิจกรรมกายบริหาร จึงทำให้น้อง ๆ ได้รับความรู้และความสนุกไปพร้อม ๆ กัน

ตลอดระยะเวลาการออกค่ายอาสาฯ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือความผูกพัน // ความสัมพันธ์และการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่และกับครอบครัวใหม่ นักเรียนที่ออกค่ายอาสาฯ จะได้รับการฝึกฝนตนเองในการช่วยเหลือต่างๆ การดูแลโรงเรียน ทำอาหาร ทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรมหรือแม้กระทั่งการสอนหนังสือน้อง ๆ ที่อยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียนที่เราออกค่ายอาสาฯ และร่วมพัฒนาโรงเรียนร่วมกัน จากเด็กนักเรียนคนเมืองที่มีความสะดวกสบาย พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา จะต้องปรับชีวิตตนเองภายใน 1 อาทิตย์ ให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตในชนบทที่ค่อนข้างลำบาก ไม่สะดวกสบายเหมือนชีวิตคนเมืองและต้องผ่านกิจกรรมการลงพื้นที่สอนหนังสือให้กับน้อง ๆ ที่อยู่โรงเรียนห่างไกล พร้อมพัฒนาโรงเรียนให้ไม่ทรุดโทรม แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ได้ลงไปคลุกคลีกับน้อง ๆ แต่ก็ทำให้เด็กนักเรียนที่ออกค่ายอาสาฯ ได้รับทักษะชีวิต เพื่อให้ทันต่อกระแสสังคมที่พร้อมจะส่งต่อโอกาสให้กับชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ก็คือผลลัพธ์ที่ทำให้ติดตัวเด็กตลอดไป ดังเช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา

น.ส.อรนิชา อภิวิศาลกิจ หรือน้องซีเจ ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า "ค่ายอาสาพัฒนาความเป็นผู้นำฯ เป็นเสมือนสถานบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ ทำให้ได้ประโยชน์ใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ 1.ด้านการฝึกฝนตนเองให้มีความเข้มแข็งและการให้และเสียสละ 2.ด้านการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างตั้งใจจริง ซึ่ง 2 สิ่งนี้ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกผูกพันและภูมิใจกับตัวเองที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต ที่ได้ลงมือเข้าไปช่วยเหลือ และการอยู่ร่วมกันกับน้อง ๆ ในชนบทที่ห่างไกล ได้เรียนรู้วิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ ที่แตกต่างจากคนในสังคมเมือง ซึ่งแรก ๆ ตัวเราเองยังปรับตัวไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้ได้ สิ่งที่ได้รับคือการได้ฝึกการเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างสังคมเมืองที่เราเคยอยู่กับสังคมนอกเมืองที่อยู่ห่างไกล

นายณัฐพล สรรพโชติ หรือน้องเอส ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า "หลังจากได้ร่วมกันทำกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนรุ่นที่ 18 ทำให้พวกเราได้เปลี่ยนความคิดให้เข้าใจกับคำว่าการทำงานเป็นทีม การรู้จักแก้ปัญหา การฝึกทักษะทางความคิดและทักษะการพูดการสอนให้เข้าใจ รวมถึงความมีน้ำใจ และคำว่า "โอกาส" มากขึ้น เพราะคนเรานั้นมีโอกาสเลือกที่แตกต่างกัน แต่วันนี้เราได้มีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการมาค่ายอาสาฯ ในครั้งนี้ ต้องทำงานกับคนที่มีความหลากหลาย ต้องอย่าลืมว่าการพัฒนาสังคมไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องเกิดจากหลายฝ่ายร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูล ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพที่ได้รับกลับมาจากน้อง ๆ ที่ได้เห็นรอยยิ้ม และน้อง ๆ ได้เข้าใจกับสิ่งที่เราตั้งใจมอบให้ ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด สำหรับการมาค่ายในครั้งนี้"

น.ส.ณัฏฐาเนตร ฝักไพโรจน์ หรือน้องเพียวอิ๊ว ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เผยอีกหนึ่งมุมมองว่า "กิจกรรมที่เราได้ลงพื้นที่ไปสอนหนังสือให้กับน้องโรงเรียนห่างไกล ทำให้เราได้เห็นว่าเรามีโอกาสมากกว่าน้อง ๆ มากแค่ไหน แต่ทำไมเราถึงไม่เห็นถึงคุณค่าของคำว่า"โอกาส" นั้น ๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เองทำให้เราเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่เพราะโอกาสดี ๆ ไม่ใช่ว่าจะมีกันทุกคน ถ้ามีโอกาสควรจะใช้ให้เต็มที่ และนอกจากนี้เรายังได้รับมิตรภาพที่จริงใจจากน้อง ๆ ที่มอบให้กับเราอีกด้วย"

ด้านอาจารย์สุภาวดี โชติวรรณพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประถมและมัธยม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กล่าวปิดท้ายว่า "กิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนรุ่นที่ 18 จัดขึ้นเพื่อต้องการปลูกฝังทักษะและคุณธรรมที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิตและต้องการให้นักเรียนเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านและของน้อง ๆ ที่อยู่โรงเรียนห่างไกลที่ไม่ได้รับโอกาสมากเท่ากับพวกเขา (นักเรียนโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา) แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องการให้นักเรียนของเรา เห็นถึงคุณค่าของคำว่าแบ่งปันน้ำใจให้กับผู้อื่น ซึ่งหัวใจหลักของกิจกรรมนี้คือประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน นอกจากการลงพื้นที่แล้วได้เห็นสิ่งที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้"

การมุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมีคุณงามความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ จึงจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เพื่อการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีความกตัญญูกตเวที มีความเมตตากรุณา ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติและสังคมเกิดความสงบสุข เมื่อนักเรียนได้ฝึกฝนตนเองจนเกิดคุณธรรมดังกล่าวแล้ว คุณธรรมเหล่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่คอยควบคุมกำกับ และน้อมนำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ