เริ่มที่ ครูพจมาน เดชะ ครูผู้เปลี่ยนเด็กเกเร ให้เป็นเด็กแกนนำ จากโรงเรียนบ้านพร้าววิทยาคม จ.เชียงใหม่ เครือข่ายโรงเรียนวิถีพุทธ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครูพจมานเล่าว่าสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงจะให้พวกเขาอยู่ในสายตาตลอด อย่างน้อยก็เพื่อควบคุมไม่ให้พวกเขาไปทำในสิ่งที่ไม่ดี "ให้มารวมกันอยู่ในห้องเดียวกัน มากินข้าวด้วยกัน ซึ่งตรงนี้เราก็ไปคุยกับผู้ปกครองว่าไม่ต้องให้เงินพวกเขามาโรงเรียนแต่ให้ห่อข้าวมาและให้มากินร่วมกับครูแทน" นอกจากดูแลใกล้ชิด ครูพจมานจะพาเด็กๆ กลุ่มนี้ไปเรียนรู้ชีวิตจริง เด็กที่มีปัญหาเรื่องชู้สาว จะพาไปเยี่ยมผู้ป่วยเอดส์และเยี่ยมสถานดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนกลุ่มที่ติดสารเสพติดก็จะพาไปเรือนจำ ไปพูดคุยกับนักโทษคดียาเสพติด "การเรียนเรียนรู้ในตำรา ห้องเรียน หรือคำบอกเล่าบางครั้งก็เป็นแค่สิ่งผิวเผินแต่การได้รู้ ได้เห็น ได้พูดคุยจากผู้ที่ผ่านชีวิตจริง อาจจะทำให้เด็กๆ เข้าใจรับรู้เรื่องนี้ได้ง่ายกว่า ครูไม่ได้พาไปดูแต่ด้านมืด ยังได้พาเด็กๆ เข้าไปในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยจะได้เห็นว่าถ้ามุ่งมั่นตั้งใจเรียนก็สามารถมาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ เราต้องการให้เขาได้เห็นชีวิต เห็นความจริงทั้งสองด้าน เพื่อที่เขาจะได้คิดและเลือกออกแบบชีวิตของพวกเขาเองว่า เขาจะเลือก และอยากจะมีและต้องการใช้ชีวิตแบบไหน"
ครูแอน - ศรีวรรณ ฉัตรสุริยวงศ์ ครูผู้สอนเด็กด้วยหัวใจ จากโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม จ.สมุทรสาคร เครือข่ายโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง(Teacher Coaching) เกริ่นว่า "การเป็นครูให้ดีที่สุด ต้องรู้จักเด็กให้มากที่สุด" ดังนั้น ครูแอนจึงมีวิธีสอนเด็กประถมกับเด็กมัธยมแบบแตกต่างกัน "ถ้าเป็นเด็กเล็กต้องมีรางวัล การ์ตูน คำชม ชื่นชมยินดี เดินไปลูบหัว ชมเขา ส่วนเด็กมัธยมปลายจะไม่ดุด่าแต่จะใช้การอธิบายด้วยเหตุผลเป็นหลัก "ถ้าเป็นหัวโจกครูแอนจะใช้ศัพท์วัยรุ่น เด็กดูหนังเรื่องอะไร ครูแอนก็จะดูเพื่อที่จะได้พูดคุยกันรู้เรื่อง และที่สำคัญการให้เกรดของครูแอนก็แตกต่างกัน"เราแยกเด็กเป็นรายบุคคล หากพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น อันนั้นคือสิ่งที่เขาต้องได้ เพราะเขาเรียนรู้มากขึ้น จากสิ่งที่เขาไม่รู้เลย สิ่งที่เด็กอ่อนได้ อาจจะไม่เก่งเท่าเด็กเก่ง แต่นั่นคือพัฒนาการของตัวเขา ดังนั้นวิชาของครูแอนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการที่จะเรียนรู้"ครูแอนตบท้าย
ครูไสว อุ่นแก้ว ครูผู้ลุยและเรียนไปกับเด็ก เพราะครูกับเด็กเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน จากโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ เครือข่ายโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว) ได้นำโครงงานมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่กลับพบว่านักเรียนไม่ใส่ใจและหลายคนมีการลอกหัวข้อมาด้วย "เริ่มกลับมาทบทวนว่าจะมีวิธีการอย่างไร ที่เราจะดูแลเขาได้และจะตรวจสอบเขาได้ว่าเด็กๆ เขาได้เรียนรู้จริงๆ ถึงมันจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร เขาได้ทักษะอะไรบ้าง แต่ถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไป ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกนิสัยไม่ดี ครูจึงเริ่มด้วยการปรับทัศนคติในการทำโครงงานไม่ใช่การทำเพราะต้องทำหรือทำเพื่อผ่าน แต่ต้องเข้าใจเป้าหมายและมองภาพการทำโครงงานให้ครอบคลุม "ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน โดยการเชิญรุ่นพี่ที่ประสบผลสำเร็จจากการทำโครงงานมาเล่าให้ฟัง และได้ร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาและได้เรียนรู้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ที่นำมาปรับใช้กับการสอนโครงงาน ที่ช่วยให้การเรียนการสอนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดการเรียนรู้อยู่ตลาอดเวลาและไม่เหนื่อยหน่ายที่จะหาเครื่องมือใหม่ๆ มาหนุนเสริมการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เด็กๆ ก็เปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งการพูดจา การกล้าแสดงออก ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัยและการใส่ใจผู้อื่น" ครูไสวกล่าว
ครูแจง - ปนัดดา ปัญฏีกา ครูผู้สอนนักเรียนให้รู้จักการให้และรู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา มูลนิธิสยามกัมมาจล "ครูแจงใช้วิธีการคุย คุยถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้น ชวนกันหาวิธีแก้ไขแล้วร่วมมือกับเด็กแก้ปัญหา อีกทางหนึ่งคือร่วมมือกับทางบ้าน ในการพัฒนาเด็กแต่ละคน หากครูสังเกตให้ดี ก็จะรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ครูแจงจะช่วยให้เด็กรู้จักตนเอง ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตนออกมา และพัฒนาศักยภาพนั้นไปในแนวทางที่เหมาะสม" ครูแจงเล่าว่าจากการเข้าร่วมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ครูแจงได้เทคนิคการสอนหลายอย่าง เช่น การตั้งคำถาม การถอดบทเรียน ซึ่งได้นำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนในห้องเรียนและการทำกิจกรรมกับเด็ก
ครูสัญญา สอนบุญทอง ครูผู้ใช้การศึกษาสร้างโอกาสให้เด็กบนดอยกล้าฝันและมีเป้าหมายชีวิต โรงเรียนบ้านห้วยเฮี๊ยะ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เครือข่ายครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครูสัญญา เล่าถึงภาพแรกที่เห็นที่โรงเรียนแห่งนี้และเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน "นักเรียนไม่สามารถทำความเข้าใจกับครูด้วยการพูดภาษาไทยเป็นประโยคยาวๆ ได้ ที่สำคัญระเบียบวินัยก็ไม่มี เด็กนึกอยากจะใส่ผ้าถุงมาโรงเรียนก็ได้ นึกอยากมาเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ตามใจตัวเอง" เพราะเคยเป็นนักศึกษาวิชาทหารมาก่อน ครูสัญญาจึงต้องการฝึกเด็กๆ ให้มีความอดทน ตรงต่อเวลา รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ "เด็กทุกคนต้องมาถึงโรงเรียน 7 โมง เพื่อทำงานที่รับผิดชอบ เช่นทำความสะอาดห้องเรียน ห้องทำอาหารห้องนำ โรงเรียนและฝึกให้เข้าแถวทุกวันเวลา 8 โมง ถ้าเราทำให้เขามีวินัยแล้วสร้างความมั่นใจให้เขาได้ด้วยก็จะยิ่งเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตเขา" ครูสัญญา จึงแก้ปัญหาที่เด็กพูดภาษาไทยไม่ชัดหรือบางคนพูดไม่ได้ด้วยกิจกรรมที่ให้เด็กทำตอนเช้า โดยให้เด็กลงบันทึกตอนเช้าเพราะฝึกทักษะการเยียนรวมถึงความซื่อสัตย์ คนที่มาสายต้องลงบันทึกตามเวลาจริง นอกจากนี้ยังให้เด็กออกมาเล่าข่าว เล่านิทาน และร้องเพลง และให้เด็กรวมกันตั้งคำถามอีกด้วยเป็นการฝึกทักษะการพูดและการเจรจาโต้ตอบ ที่สำคัญครูสัญญายังได้นำกระบวนการละครมาใช้ด้วย"สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการละครคือเรื่องความมีน้ำใจ เด็กที่โตกว่าจะคอยช่วยเหลือน้องๆที่เพิ่งเข้ามาเล่นละครและยังจำบทไม่ได้ ฝึกให้มีความอดทน กล้าแสดงออก" ผลที่เกิดขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กอย่างชัดเจนทั้งการพูดไทยชัดและเขียนหนังสือสวยงาม การกล้าแสดงออก ทำให้ชาวบ้านให้การสนับสนุนและส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่กันเยอะขึ้น
ครูตุ๋ม - ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ครูผู้แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทั้งโรงเรียนด้วยจิตอาสา จากโรงเรียนบ้านหินลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เครือข่ายศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ ม.มหาสารคาม ด้วยความเชื่อมั่นว่าทักษะการอ่านเขียน คือพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองและป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางหลุดไปอยู่ในหลุมดำของสังคม ครูตุ๋มที่สอนภาษาไทยชั้น ป.4-6 เริ่มต้นด้วยการสอนเพิ่มเติมให้นักเรียนกลุ่มที่อ่านเขียน โดยชักชวนนักเรียนรุ่นพี่มาช่วยสอนน้องชั้น ป.2และเพื่อนในชั้นเดียวกัน เพื่อให้นักเรียนผู้สอนและนักเรียนพิเศษมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น จึงให้เด็กจับคู่บัดดี้ คอยช่วยเหลือกันทุกเรื่อง ไปไหนไปกัน กินข้าวด้วยกัน เล่นด้วยกัน ทำให้นักเรียนจิตอาสาเข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เด็กพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น "เด็กเรียนไม่เก่ง เกเร ไม่ใช่ความผิดของเขา ครูต้องเข้าใจเสมอว่า ต่อให้นักเรียนดื้อขนาดไหน เขาก็คือลูกศิษย์ของเรา ถ้ามองว่าเขาดื้อ ไม่เชื่อฟังสอนไม่ได้ ถึงเราจะสอนหรือไม่สอน เราก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม เราจะมองหน้าตัวเองได้ไหม" ครูตุ๋มทิ้งท้ายให้คิด
สุดท้าย ครูมารศรี มิ่งศิริรัตน์ ครูผู้สอนพลังบวกเพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง จากโรงเรียนสุรนารีวิทยาคม จ.นครราชสีมา เครือข่ายครูสอนดี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ครูมารศรีได้เล่าถึงวิธีการของตนเองว่า จะแบ่งนักเรียนในความดูแลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มปลอดภัย คือ กลุ่มเด็กที่มีความประพฤติและผลการเรียนในระดับดี 2.กลุ่มห่วงใย คือกลุ่มเด็กที่เริ่มมีพฤติกรรมที่เริ่มเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง เช่นแต่งกายผิดระเบียบ มีปัญหาทางบ้าน และกลุ่ม 3 กลุ่มใส่ใจ คือเด็กที่มีพฤติกรรมหนีเรียน ผลการเรียนย่ำแย่ เด็กสองกลุ่มหลังนี้คือเป้าหมายที่ครูจะดูแล โดยเริ่มโครงการห้องเรียนนอกเวลาพัฒนาทักษะชีวิต คือการนำนักเรียนในสองกลุ่มนี้มาทำกิจกรรมด้านต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ค้นพบศักยภาพความถนัดของตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นๆ ได้อย่างมีความสุข "กิจกรรมทักษะการเรียนรู้จะเป็นการสอนหนังสือ ทั้งสอนเสริมความรู้เข้าไปใหม่และสอนแบบทบทวนเนื้อหาในวิชาเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชาคณิศาสตร์ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ฯลฯ ส่วนกิจกรรมทักษะอาชีพเป็นการสอนทำสิ่งต่างๆ อาทิ น้ำยาล้างจาน ยาดมสมุนไพร พวงกุญแจ ทำขนมไทย เบเกอรี่ ฯลฯ ขณะที่กิจกรรมทักษะชีวิตจะเป็นการฝึกศิลปะป้องกันตัวเพื่อเสริมทักษะการแก้ปัญหา ฝึกทำอาหารเพื่อเสริมทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ณรงค์หยุดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น" จากนักเรียนที่ใครๆ ก็พากันส่ายหัว มาวันนี้ครูมารศรีเปลี่ยนแปลงเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ให้เกลายเป็นเด็กที่ได้รับการยอมรับจากครูท่านอื่นๆ
นี่เป็นเพียงแค่ "ครู" ส่วนหนึ่ง ที่ไม่เป็นเพียงครูตามวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นครูทั้งจิตวิญญาณ มูลนิธิสยามกัมมาจล เชื่อว่ายังมีครูดีอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่กันทั่วประเทศ ที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาเทคนิคการเรียน การสอนให้ลูกศิษย์ของตนเองเป็นคนดีและคนเก่งของสังคม เราขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูทั่วประเทศที่กำลังทำหน้าที่สำคัญอยู่ในขณะนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ # www.scbfoundation.com # Facebook : พูนพลังครู