บลจ.กสิกรไทยเผย ปัจจัยเสี่ยงลดน้อยลงหลัง FED ขึ้นดอกเบี้ย พร้อมแนะนำเพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นได้เพิ่มเติม

ศุกร์ ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๑๖
นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยถึงมุมมองต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ซึ่งล่าสุดที่ประชุมได้มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25%-0.50% จากเดิมที่ระดับ 0%-0.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ และนับว่าเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง และระดับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% รวมถึง FED ยังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าในปี 2559 ดอกเบี้ยจะแตะที่ระดับ 1.375%

นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก มองว่าในระยะสั้นไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากตลาดได้ปรับตัวไปตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่แล้ว แต่สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวตอบรับในเชิงบวกหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยข้อมูลของเช้าวันที่ 17 ธ.ค. 58 หุ้นสหรัฐ S&P 500 ปรับตัวขึ้น 1.45% และหุ้นเอเชียโดยรวมเปิดตลาดช่วงเช้าปรับขึ้น 2% ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดก่อนการประกาศผลการปรับดอกเบี้ย โดย STOXX Europe 600 ปรับตัวขึ้น 0.24% ด้านตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะ 1 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปี ปรับขึ้น 4 bps มาอยู่ที่ 1.02% ส่วนระยะ 10 ปี ปรับขึ้น 2 bps มาอยู่ที่ 2.30% ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ ด้านราคาทองคำปรับตัวลดลง 0.50% เนื่องมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเป็นตัวกดดันราคาลงมา ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณที่มีล้นตลาด

ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัดเช่นกัน เนื่องจากตลาดได้รับรู้และมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และได้สะท้อนให้เห็นจากการปรับตัวของตลาดหุ้นในเอเชียรวมถึงตลาดหุ้นไทยไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในปีหน้า ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง แต่ก็คาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก

"มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยจะได้รับปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีน และยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตามอง คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ อาทิ จีนและสหรัฐอเมริกาที่จะทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวในดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยปัจจัยหนุนยังคงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งหากดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตัวเลข GDP ของไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5%-3.5% และบลจ.กสิกรไทยตั้งเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2559 ที่ระดับ 1,500 – 1,550 จุด ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน Forward P/E ในปี 2559 ที่ระดับ15.3-15.8 เท่า โดยกลยุทธ์หรือธีมการลงทุนของบลจ.กสิรไทยในปี 2559 จะให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงโครงการประมูลงานขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ได้แก่ หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้างและขนส่ง นอกจากนี้ยังมองหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีขึ้นเห็นได้จากตัวเลขภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส 3/58 ที่ออกมาดีขึ้น รวมถึงยังสนใจหุ้นในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีแม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อาทิ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นอุปโภคบริโภค ค้าปลีก เป็นต้น" นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าว

ด้านมุมมองการลงทุนในต่างประเทศ นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวว่า ในระยะสั้นความผันผวนในตลาดคาดว่าจะลดน้อยลง เนื่องจากความกังวลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ลดน้อยลง ผู้ลงทุนจึงอาจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างกันของนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ซึ่งบลจ.กสิกรไทยจะให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและยุโรป ด้วยมองว่าระดับราคายังมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่จะต้องติดตาม คือราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำและยังไม่มีทิศทางฟื้นตัว จะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดการเงินโลก ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจน้อยลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ