รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า นับเวลากว่า 100 ปี ประเทศไทยได้มีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์มาถึงวันนี้ จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการ "พัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับวิศวกรศตวรรษที่21" ระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ เอ็นคอนเส็ปท์ (Enconcept) ซึ่งเป็นสถาบันภาษาอังกฤษชั้นนำของประเทศไทย มีจุดประสงค์หลักเพื่อ 1.สนับสนุนให้วิศวลาดกระบังพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีเกณฑ์สัมฤทธิผลทางการศึกษาเทียบระดับนานาชาติ ที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสอบ TOEIC (Test of English for International Communication) ตั้งแต่ 700 ขึ้นไป 2. สนับสนุนให้มีกระบวนการจัดการองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาวิศวลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง 3. สนับสนุนให้คณะวิศวลาดกระบังเป็นแหล่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลสายวิศวกรรมศาสตร์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติโดยมุ่งเน้นการใช้ภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสม
นางสาวอริสรา ธนาปกิจ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า เอ็นคอนเส็ปท์ มีปณิธานในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาษาอังกฤษของคนไทยพัฒนาขึ้น โดยไม่ต้องการให้กำแพงของภาษานั้นมาปิดกั้นความสามารถและศักยภาพของเด็กไทยที่เชื่อว่าเป็นเลิศไม่น้อยไปกว่าชาติใด เพราะทักษะภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับ วิศวกร ซึ่งเป็น 1 ใน 8 อาชีพที่ทำงานได้อย่างเสรีในอาเซียน โครงการพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพและสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานในอนาคต รูปแบบการเรียนการสอนจะแบ่งตามการพัฒนาทักษะต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (StartUp English), หลักสูตรการออกเสียงภาษาอังกฤษ (Speak Easy) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพูดอย่างถูกต้อง สื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพอย่างมั่นใจ, หลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับคนทำงาน (Business English) เน้นการใช้งานภาษาอังกฤษทุกทักษะที่จำเป็นในการทำงาน โดยเฉพาะสำหรับอาชีพวิศวกร และสุดท้ายหลักสูตรเตรียมพร้อมสำหรับการสอบ TOEIC (TOEIC Intensive) ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรในครั้งนี้ นอกจากจะคัดเลือก คำศัพท์ บทสนทนา และรูปแบบประโยคภาษาอังกฤษ สำหรับวิศวกรโดยเฉพาะแล้ว ยังผสานรวมเทคนิคการเรียนการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ของเอ็นคอนเส็ปท์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคแบบ Strategic Structure , การเชื่อมโยงไวยากรณ์อย่างเป็นระบบด้วย Tree Tactics, บทเพลงเพื่อการเรียนรู้ศัพท์และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแนวใหม่ Memolody และการฝึกภาษาอังกฤษผ่าน Mobile Application ต่างๆ ที่ทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์การออกเสียงที่ถูกต้อง และทำให้การทบทวนภาษาอังกฤษสะดวกยิ่งขึ้น
นางสาวอริสรา กล่าวเสริมว่า "เราต้องยอมรับว่าความตื่นตัวด้านการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย เริ่มจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ โดยบริษัทใหญ่ๆ หรือแม้แต่กลุ่มข้าราชการก็ มีการเอาระดับความสามารถภาษาอังกฤษ ที่ชี้วัดได้มาใช้ เช่น ต้องยื่นคะแนน TOIEC ประกอบการสมัครงาน หรือการเลื่อนขั้น หรือ คุณครูถ้าจะเลื่อนวิทยฐานะต้องมีคะแนนสอบ CEFR ซึ่งเป็นมาตรฐานของ Cambridge ที่ทั่วโลกยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกันก่อนถึงจะทำเลื่อนขั้นผ่านได้ ดังนั้นเอ็นคอนเส็ปต์มองว่าแนวโน้มเรื่องการตื่นตัวในการพัฒนาภาษาอังกฤษในไทยจะเป็นรูปธรรมและมีเป้าหมายที่ชี้วัดได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะถูกผนวกเป็นเนื้อเดียวกับความก้าวหน้าในการเรียน ในการงาน เราจึงต้องพัฒนา ทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน ในเชิงที่สามารถสื่อสารจริงได้มากขึ้น คือ สามารถถ่ายทอดความคิด หรือแลกเปลี่ยนความรู้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษจริงๆ เราจึงคิดว่าต้องมีนวัตกรรมมาช่วยในการทำให้การเรียนแบบที่สามารถสื่อสารและแสดงออกเป็นภาษาอังกฤษโดยที่ไม่เพิ่มภาระที่ครูจนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งตอนนี้เรามีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า My Echo ที่จะช่วยเกี่ยวกับการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ เวลาที่ต้องสื่อสารกับคนต่างชาติ โดยนอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ก็ยังช่วยในเรื่องของการออกเสียงภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเราด้วย เพราะเอ็นคอนเส็ปต์เชื่อว่า ก่อนที่เราจะเก่งภาษาอื่นได้ เราต้องเก่งในภาษาของตนเองก่อน นอกจากนี้ My Echo ยังช่วยในเรื่องของการออกเสียงภาษาจีน อันเป็นภาษาที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย"