นายก ส.กุ้งไทยชี้ ปี 59 การเลี้ยงกุ้งไทยฟื้นตัว คาดเพิ่มผลผลิตได้ 10% ขณะที่ประเทศคู่แข่งมีแนวโน้มผลผลิตลด เป็นโอกาสกุ้งไทย

อังคาร ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๔๔
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคม และ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี นายชัยพร เอ้งฉ้วน กรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2558 ว่า ผลผลิตกุ้งปี 2558 โดยรวมประมาณ 260,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 13 ถือเป็นสัญญาณที่ดี ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถรับมือ-แก้ปัญหาโรคตายด่วน หรืออีเอ็มเอส (EMS) ได้ดีขึ้น และปีหน้าผลผลิตกุ้งจะดีขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ผลผลิตกุ้งโลกมีแนวโน้มลดลง ปี 59 จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมกุ้งไทย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาการกีดกันการค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน/แรงงานทาสเพราะจะเป็นประเด็นที่ถูกกดดันจากประเทศคู่ค้า

"ประมาณการผลผลิตปี 2558 ผลผลิตกุ้งไทยอยู่ที่ประมาณ 260,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ผลิตกุ้งได้ 230,000 ตัน หรือร้อยละ 13 ทั้งนี้จากการที่ผู้เลี้ยงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง ทำให้สามารถแก้ปัญหาโรคระบาด EMS ได้สำเร็จ ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2.04 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 8 โดยประเทศคู่แข่งหลักมีปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม และอินเดีย

ด้านการส่งออก จากข้อมูลการส่งออกกุ้ง เดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ 127,871 ตัน มูลค่า 44,256 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ปริมาณ ลดลงร้อยละ 1.21 มูลค่าลดลงร้อยละ 14.43" นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง การเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกว่า "ภาคตะวันออกในปี 2558 ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีการชะลอตัวบ้างในช่วงปลายปีเนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ลูกกุ้งในปี 2558 มีคุณภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีความมั่นใจลงกุ้งมากขึ้น และปีหน้าผลผลิตเพิ่มขึ้นเพราะเกษตรกรเตรียมลงกุ้งเลี้ยงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และจะมีการเพิ่มการจัดการการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคมฯ และ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า "สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งประสบปัญหาโรค EMS มาเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ได้มีการปรับปรุงและหาวิธีการเลี้ยง โดยปรับโครงสร้างฟาร์มและวิธีการจัดการ จนได้วิธีการเลี้ยงที่สามารถเลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จ ทำให้มีผลผลิตถึงเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 80,700 ตัน คิดเป็นประมาณ 38% ของประเทศ และด้วยแนวทางการเลี้ยงรูปแบบใหม่นี้ จะทำให้ผลผลิตกุ้งในปี 2559 เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน"

นายชัยพร เอ้งฉ้วน กรรมการบริหารสมาคมฯ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ในฝั่งอันดามันว่า "ปัญหา EMS ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีแนวโน้มดีขึ้น จาก 2 ปัจจัยคือ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และเกษตรกรมีการปรับปรุงวิธีการเลี้ยง ทำให้ผลผลิตกุ้งภาคใต้ฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 15 โดยมีการผลิตทั้งกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ สำหรับพื้นที่อันดามันถือเป็นแหล่งผลิตกุ้งกุลาดำที่มีศักยภาพ แต่เนื่องจากตลาดหลักของกุ้งกุลาดำคือการส่งกุ้งมีชีวิตไปจีน ทำให้บางพื้นที่มีศักยภาพแต่ไม่สามารถเลี้ยงได้ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้"

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวว่า "ตลอด 3 ปี ที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยเผชิญ ปัญหาโรค EMS แต่ภาคผ้เลี้ยงไม่เคยถอดใจ และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่จนปัจจุบันเราสามารถแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างมั่นใจ และปี 59 จะเป็นโอกาสพลิกฟื้น ของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพราะจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ จากปัจจัยหลักทั้งเรื่องคุณภาพลูกกุ้ง และการปรับวิธีการเลี้ยง ในขณะที่ประเทศค่แข่งจะผลิตได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ห้องเย็น และผู้เลี้ยง จะต้องมีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน"

"ปี 2559 จะเป็นปีที่การเลี้ยง/อุตสาหกรรม กุ้งไทยฟื้นตัว ผลผลิตกุ้งไทยจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตกุ้งโลกมีแนวโน้มลดลง เช่น อินเดีย ที่ถือเป็นประเทศที่ผลิตกุ้งได้มากที่สุด 380,000 ตัน ในปี 2558 ปีหน้าคาดว่าจะผลิตกุ้งลดลงมาก เนื่องจากประสบปัญหาโรคไมโครสปอริเดีย ที่อินเดียยังไม่รู้วิธีป้องกันจัดการฯ ขณะที่ประเทศไทยมีบริษัทที่มีความมั่นใจ ที่จะสามารถป้องกัน-แก้ไขปัญหานี้ได้ โดยสามารถเพาะลูกกุ้งที่ไม่ติดเชื้อนี้ ซึ่งเมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยง จะเลี้ยงได้ เป็นต้น การที่ผลผลิตกุ้งของโลกจะลดลงนี้ ทำให้ราคากุ้งของโลกน่าจะสูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าจะหันกลับมาซื้อกุ้งจากประเทศไทย เพราะยอมรับ-เชื่อมั่นในความสม่ำเสมอของคุณภาพกุ้งไทย หลังจากที่หายไปเนื่องจากไทยมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นเรื่องปริมาณ และความสม่ำเสมอของวัตถุดิบในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังคือ ประเด็นแรงงาน/แรงงานทาส ที่จะถูกนำมาเป็นประเด็นสำคัญ กดดันประเทศไทยต่อไป จากประเทศสหรัฐ และอียู" นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ