- ฟอร์ดได้ลงทุน ในการวิจัยที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์อันล้ำสมัยระดับโลก เพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ขั้นสูงนี้
- ฟอร์ดเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านยอดขายรถยนต์ไฮบริดแบบ plug-in และอันดับสองด้านยอดขายตลาดรถพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา และเมื่อเร็วๆ นี้ ฟอร์ดยังได้ขยายเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังตลาดที่กำลังเติบโต เช่น จีน ไต้หวัน และเกาหลี
ฟอร์ดมุ่งขยายการวิจัยและพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าในทวีปยุโรปและเอเชียในปีนี้ เพื่อสร้างระบบศูนย์กลางการเชื่อมต่อสื่อสาร และอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมงานฟอร์ดในการเร่งขยายการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการขยายตลาดดังกล่าว
การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะทำให้ทีมงานวิศวกรด้านระบบส่งกำลังเครื่องยนต์ไฟฟ้าของฟอร์ด สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่เกื้อกูลกัน และทดสอบแบตเตอรี่แบบเรียลไทม์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น และลดการใช้ตัวต้นแบบในการวิจัยที่มีราคาสูง
ฟอร์ดในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งด้านยอดขายรถยนต์ไฮบริดแบบ plug-in และอันดับสองด้านยอดขายตลาดรถพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ยังคงมุ่งมั่นในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในรถพลังงานไฟฟ้าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้ ฟอร์ดได้ขยายโปรแกรมวิศวกรรมระบบส่งกำลังเครื่องยนต์ไฟฟ้าในเมืองเดียร์บอร์น โดยมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ และล้ำสมัยในรถพลังงานไฟฟ้า โดยฟอร์ดได้ว่าจ้างวิศวกรด้านรถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 120 คน รวมถึงการย้ายทีมวิศวกรด้านระบบส่งกำลังเครื่องยนต์ไฟฟ้าไปยังสำนักงานปฏิบัติการทางวิศวกรรมของฟอร์ด ซึ่งเป็นสำนักงานเฉพาะที่ฟอร์ดได้ลงทุนสร้างขึ้นเองอีกด้วย
การขยายทีมวิศวกรในครั้งนี้ ทำให้สำนักงานปฏิบัติการทางวิศวกรรมของฟอร์ด สามารถควบคุมดูแลเครือข่ายโรงงานระดับโลกของฟอร์ดทั้งในประเทศจีน สหราชอาณาจักร เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา และจากการดูแลสื่อสารผ่านเครือข่ายดังกล่าว ทำให้ทีมวิศวกรของฟอร์ดได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อเทคโนโลยีทั่วโลก เพื่อพัฒนาแบตเตอรรี่รถพลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และทนทานมากขึ้น
นอกจากนั้น ฟอร์ดยังเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในจีนและยุโรป เพื่อขยายไปยังตลาดใหม่ๆในภูมิภาคดังกล่าว โดยการใช้นวัตกรรมอันล้ำสมัยของระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่เรียกว่า HIL หรือ Hardware-in-the-Loop (ระบบต้นแบบจำลอง) ช่วยให้ทีมงานฟอร์ดทั่วโลก สามารถทดสอบเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ในระบบควบคุมฮาร์ดแวร์ในบรรยากาศเสมือนจริง เพื่อทดสอบการทำงานของแบตเตอรี่และตัวควบคุมในแต่ละสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปทั่วโลก
ทั้งนี้ การทดสอบแบตเตอรี่ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน และสภาวะวงจรการชาร์จแบตนั้น คือ สิ่งสำคัญในการกำหนดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และเพื่อทราบว่าแบตเตอรี่จะเปลี่ยนแปลงและเสื่อมเร็วเพียงใดในแต่ละสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั่วโลก
โดยทีมงานฟอร์ดได้ทำการทดสอบแบตเตอรี่ในระดับอุณหภูมิที่หลากหลายมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการออกแบบและผลิตอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และจากการทดสอบนี้เอง ทำให้ฟอร์ดสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่ทนทานต่อการใช้งานทั้งในสภาวะอุณหภูมิที่หนาวและร้อนจัด
"แบตเตอรี่คือหัวใจสำคัญของรถพลังงานไฟฟ้าทุกรุ่นทุกคัน และฟอร์ดในฐานะผู้นำด้านการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาแบตเตอรี่มากว่า 15 ปี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" เควิน เลย์เดน ผู้อำนวยการหน่วยงานโครงการรถพลังงานไฟฟ้า กล่าว "ฟอร์ดให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เรื่อยมา นับตั้งแต่เราได้เปิดตัวรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นแรก คือ ฟอร์ด เอสเคป ขี้นเมื่อปี 2547และเรายังคงพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตั้งในรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นต่อไป และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าฟอร์ดต่อไป"
เมื่อไม่นานมานี้ ฟอร์ดได้ขยายเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังตลาดที่กำลังเติบโตอื่นๆ อาทิ ในประเทศไต้หวัน ซึ่งฟอร์ดได้เปิดตัว รถฟอร์ด มอนดิโอ ไฮบริด (Mondeo Hybrid) รวมถึง แผนการเตรียมเปิดตัว รถฟอร์ด ซี-แม็กซ์ เอเนอร์จี ระบบไฮบริด แบบplug-in (C-MAX Energi Plug-In Hybrid) และ ฟอร์ด มอนดิโอ ไฮบริด ในประเทศจีน