วัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในลักษณะ "ดีขึ้นแบบระมัดระวัง" โดยคาดว่าดัชนีมวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะอยู่ที่ 3% สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ดังนั้น ในปลายปี แต่ละคนจึงควรวางแผนการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งประมาณการเงินรายได้ ค่าใช้จ่าย เงินสำรอง เงินลงทุน และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และนำมาวางแผนทดลองทำตามแผนไปก่อน 3 เดือน หลังจากนั้นควรมีการทบทวนแผนว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่เพราะระหว่างทางในการทำตามแผนจะมีหลายสิ่งๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีรายได้เสริมเพิ่ม เจ็บป่วย เป็นต้น
1)เงินออมตัดปัญหาอ้างเหตุผลของการเก็บเงินไม่ได้สักที ยึดมั่นลงมือทำด้วยคติที่ว่า "ออมก่อนใช้"ใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติ เพื่อนำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากประจำหรือลงทุนในกองทุนรวมให้เราอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน ซึ่งจะช่วยให้มีวินัยการออมเงินอย่างอัตโนมัติ
ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะเป็นการเน้นที่เงินฝากระยะยาวมี 2 รูปแบบ ที่แต่ละธนาคารจะออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มรูปแบบแรกเป็น"บัญชีเงินฝากพิเศษ" ที่เน้นการออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน โดยดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษีอีกรูปแบบหนึ่งคือ"เงินฝากสำหรับผู้สูงอายุ"ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้น เพราะตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีสำหรับผู้ฝากที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และมีดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ย
นอกจากนี้อีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้ คือ ความคุ้มครองเงินฝากที่เดิมเคยคุ้มครองเต็มจำนวนเริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 หลังจากนั้นจะลดลงเหลือไม่เกิน 25 ล้านบาท จนถึง 10 สิงหาคม 2559 และไม่เกิน 1 ล้านบาทตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2559
2)เงินลงทุนใน LTF/RMFรายได้จากการลงทุนก็เป็นการเสริมรายได้อย่างหนึ่ง แต่จะมีรายได้จากส่วนนี้ ต้องมีการออมเกิดขึ้นก่อน หลังจากนั้น จึงนำเงินออมไปลงทุนยึดคติ "ลงทุนน้อยๆ ลงทุนต่อเนื่อง"ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้เงินเก็บที่มีเพิ่มมูลค่าได้เร็วขึ้นกว่าอัตราเงินเฟ้อการลงทุนที่เป็นทางเลือกเหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงานหรือคนที่อยากเริ่มต้นลงทุน คือ กองทุนรวมหรือการทำประกันแบบเงินออม เพราะยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และผลตอบแทนในส่วนของกำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษี ควรลงทุนในกองทุนรวมเป็นรายเดือนเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการลงทุน และยังเป็นการช่วยเฉลี่ยต้นทุนที่ดี
สิทธิประโยชน์ที่เห็นได้ชัดในปีหน้า จากที่คณะรัฐมนตรี ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาและปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สาระสำคัญ คือมีเพดานไม่เกิน 500,000 บาทออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และปรับเพิ่มระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนใน LTF จากไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทินเป็นไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทินสำหรับหน่วยลงทุนใน LTF ที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
ผู้ออมต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับกับสภาพคล่องที่ปรับลดลงจากการต้องถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลานานขึ้น
ผลทางบวกต่อการออมในภาพรวมจะจำกัดการได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน LTF อยู่แค่กลุ่มผู้มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 300,000 บาท หรือเงินเดือนประมาณ 25,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
3)เงินกู้ / สินเชื่อขอให้ใช้ชีวิตการเป็นหนี้อย่าง"มีสติ" เช่นในกรณีต้องการซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง การเปรียบเทียบดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกกับแบบอัตราคงที่
จากทิศทางดอกเบี้ยในปี 2559 ที่อาจจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องตลอดปี ผู้ที่กำลังจะขอสินเชื่อใหม่หรือ Refinance แนะนำให้เลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่
นอกจากนี้ ข่าวดีสำหรับคนที่มีหนี้ผ่อนบ้าน คือ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ที่ทำให้คนที่ซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทสามารถนำเอา 20% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย มายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเวลา 5 ปี โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31ธันวาคม 2559
หมดสิทธิ์ต่อเวลา ถ้าคิดจะมีเงินใช้จ่ายให้กับชีวิต พร้อมไม่พร้อมก็ต้องเริ่มตั้งต้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสุขที่มั่นคงของชีวิตในปีวอก
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายติดต่อได้ที่
K-Expert Center ชั้น 2 อาคารจามจุรีสแควร์ กรุงเทพฯ
ทีมงาน K-Expert ที่ให้บริการประจำสาขาธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศ
อีเมล์ [email protected]
เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert