หม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงจากการมีลูกค้าที่กระจุกตัว ราคาวัตถุดิบที่ผันผวน ตลาดส่งออกที่อ่อนตัวลงจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากการขยายตลาดหรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ของบริษัทประสบความสำเร็จและสามารถสร้างกำไรและกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากหรือการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาระหนี้และสภาพคล่องของบริษัท
บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ ก่อตั้งในปี 2539 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment – MAI) ในเดือนกรกฎาคม 2554 ณ เดือนกันยายน 2558 นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และครอบครัว มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 62% บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้าของตนเองคือ "QTC" ถึงแม้บริษัทจะมีผลิตภัณฑ์หลักคือหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แต่บริษัทก็มีความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่ขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1-30,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 72 กิโลโวลต์ (kv) ด้วยเช่นกัน
โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มการใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าซึ่งช่วยลดเวลาในการผลิต อีกทั้งยังลดการพึ่งพาแรงงานที่มีทักษะ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันและมีความได้เปรียบในด้านต้นทุน ผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทผ่านการทดสอบการทนต่อการลัดวงจรจากสถาบัน CESI ประเทศอิตาลี และสถาบัน KEMA ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่หลากหลาย อาทิ มาตรฐาน ISO 9001, มาตรฐาน ISO 14001, มาตรฐาน ISO 50001, มาตรฐาน OHSAS 18001 และมาตรฐาน ISO/IEC 17025
ในระหว่างปี 2553-2557 รายได้ประมาณ 94% ของบริษัทมาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย 2% มาจากหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และส่วนที่เหลือมาจากค่าบริการและการขายส่วนประกอบหม้อแปลงไฟฟ้า ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าคิดเป็น 37% ของรายได้รวม บริษัทเอกชน 39% และลูกค้าภาคการส่งออก 21% บริษัทมีความสัมพันที่ดีมาอย่างยาวนานกับตัวแทนส่งออกรายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดรับจ้างผลิตของบริษัท ส่งผลให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าเหมืองแร่และกลุ่มลูกค้าธุรกิจปิโตรเลียม อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เริ่มซบเซาในประเทศออสเตรเลียมีผลทำให้ยอดส่งออกของบริษัทถดถอยลง
อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายของประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตในประเทศประมาณ 25 ราย ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตทั้งหมดเป็นผู้ผลิตรายเล็กซึ่งไม่สามารถประมูลงานกับรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ สำหรับตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศนั้น ลูกค้าหลักคือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกลุ่มลูกค้าเอกชนในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม อาคารขนาดใหญ่ และโครงการสาธารณูปโภคที่ล้วนเป็นกลุ่มที่มีความต้องการหม้อแปลงชนิดพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะและมีคุณภาพสูงไว้วางใจได้ทั้งสิ้น โดย กฟน. และ กฟภ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับงบประมาณรายปีในการดูแลและพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ประมาณ 24% ของบริษัทมาจาก กฟน. และ กฟภ. และประมาณ 29% มาจากบริษัทเอกชนหนึ่งรายที่ประกอบธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์
ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556-2557 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ การประท้วงที่ต่อเนื่องส่งผลกระทบให้งานประมูลของภาครัฐวิสาหกิจล่าช้าและภาคเอกชนชะลอโครงการลงทุน รายได้จากตลาดส่งออกของบริษัทที่หดตัวลงส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทลดลง 16% ในปี 2556 และ 5% ในปี 2557 หลังจากที่เติบโตกว่า 30% ต่อปีในช่วงปี 2554-2555 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทเท่ากับ 13.6% ในปี 2557 อ่อนตัวลงจาก 16% ในปี 2556 18.8% ในปี 2555 อัตราส่วนกำไรที่ลดลงอย่างมากมีสาเหตุมาจากการลดลงในสัดส่วนรายได้ของกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในงานภาคเอกชน ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจมีอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไม่ซับซ้อนและมีปริมาณสั่งซื้อจำนวนมาก
ในปี 2558 ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างมากจากการเปิดประมูลงานของ กฟภ. ตั้งแต่ต้นปี 2558 และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทเท่ากับ 12% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ -2.6% ในช่วง เดียวกันของปี 2557 ทั้งนี้ อัตรากำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และปี 2559 จากปริมาณงานที่รอส่งมอบจำนวนมากและการเติบโตของโครงการไฟฟ้าพลังงานสงอาทิตย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีงานที่รอส่งมอบมูลค่า 460 ล้านบาท โดยประมาณ 90% เป็นงานที่ส่งมอบภายในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาทในปี 2558 เทียบกับ 761 ล้านบาทในปี 2557
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 118 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 321 ล้านบาทเนื่องจากมีปริมาณงานที่รอส่งมอบจำนวนมาก ประมาณ 90% ของภาระหนี้ของบริษัทเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่ากับ 39.4% จาก 19.5% ณ สิ้นปี 2557 อัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงเป็นประมาณ 20% เมื่อมีการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น ทั้งนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 84.1% ในปี 2557 และ 54.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนทางการเงินนี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อมีการส่งมอบงาน บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 14 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558
ในช่วงปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเท่ากับ 150-200 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้ต่อปีต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทคาดว่าจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่เนื่องจากบริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก ดังนั้น หากการขยายธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บริษัทจึงควรพิจารณาการกู้ยืมแบบสินเชื่อโครงการซึ่งอาจใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน (Ring-fence Financing) หรือการเพิ่มทุนบางส่วนเพื่อรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมและไม่ก่อหนี้สินมากจนเกินไป
บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (QTC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable