ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. ทีทีซีแอล” ที่ “BBB+/Stable”

ศุกร์ ๐๘ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๐:๐๗
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดภายในประเทศของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างแบบครบวงจร (Engineering, Procurement, and Construction -- EPC) ตลอดจนความสามารถในการรับเหมางานโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นของบริษัท รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ EPC ในต่างประเทศ ลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และการแข่งขันที่รุนแรง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาด EPC ภายในประเทศที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5%-6% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนต่ำกว่า 55% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.2 เท่าในช่วงปี 2558-2561

การปรับเพิ่มของอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เว้นแต่ผลการดำเนินงานของบริษัทจะสูงกว่าประมาณการและภาระหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะกดดันสถานะทางการเงินของบริษัท ในขณะเดียวกัน อันเครดิตอาจปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลง หรือหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่าระดับ 60% ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การประเมินอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะพิจารณาความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ รวมถึงคุณภาพโครงการ และโครงสร้างการเงินของโครงการต่อไป

บริษัททีทีซีแอลเป็นผู้รับเหมางานประเภท EPC ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2528 จากการร่วมทุนระหว่าง บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และToyo Engineering Corporation (TEC) ซึ่งเป็นบริษัท EPC ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชนในปี 2551 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีต่อมา ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2558 TEC มีสัดส่วนการถือหุ้น 17.4% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยมี Chiyoda Corporation จากประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นในสัดส่วน 3% และบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 3.3% การเป็นผู้รับเหมางาน EPC ที่ครบวงจรทำให้บริษัทรับเหมางานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ โรงผลิตปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมันและแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้า ในปี 2553 บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการแข่งขันที่รุนแรง

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในประเทศที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจรับเหมางานประเภท EPC โดยเฉพาะงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเป็น 1 ในผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยพิจารณาจากรายได้และขนาดของสินทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในผลงานที่มีคุณภาพจากการมีลูกค้าที่มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงบริษัทกลั่นน้ำมันและบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่หลายราย ทั้งนี้ ผลงานในอดีตที่เป็นที่ยอมรับประกอบกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์น่าจะช่วยให้บริษัทรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรับเหมางานประเภท EPC ต่อไปได้ในระยะปานกลาง

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการรับเหมางานขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งจะช่วยรักษาระดับรายได้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของโครงการใหญ่ก็ตาม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 3.47 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง มูลค่างานดังกล่าวจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปี 2558 คิดเป็น 20% ของรายได้ของบริษัท ในปี 2559 ที่ 75% และในปี 2560 ที่ 45% บริษัทรวมทั้งบริษัทย่อยและสาขาในต่างประเทศรับเหมางาน EPC ในประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศอื่น ๆ เช่น กาต้าร์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงของที่ตั้งโครงการและมีส่วนเสริมสถานะอันดับเครดิตให้แก่บริษัท บริษัทมีรายได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2557 โดยรายได้ 50% มาจากโครงการในต่างประเทศ

การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงกลยุทธ์ธุรกิจในการขยายไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วย โดยบริษัทได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายโครงการเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านี้ทั้งหมดอีกด้วย บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ บริษัทเริ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าในปี 2553 โดยซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ บริษัท นวนครการไฟฟ้า จำกัด ในสัดส่วน 42% โดยบริษัทนวนครการไฟฟ้าดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 110 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด120 เมกะวัตต์ในเขต Ahlone เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าด้วย (โครงการ Ahlone) โดยผ่านบริษัทย่อยในประเทศพม่า บริษัทถือหุ้น 72% ในโครงการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5,500 ล้านบาท บริษัทมีความคืบหน้าที่น่าพอใจในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมีผลกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) (EBITDA) จำนวนมากจากธุรกิจโรงไฟฟ้าเมื่อโครงการ Ahlone ได้เริ่มสร้างรายได้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 EBITDA จากธุรกิจโรงไฟฟ้าคิดเป็น 60% ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัท หรือ 311 ล้านบาท ในอนาคตคาดว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีและช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่อ่อนแอลงจากการกู้ยืมเพื่อขยายธุรกิจ โดยบริษัทก่อหนี้สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนในโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศพม่า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 100,000-103,000 ล้านบาทในประเทศพม่า ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

อันดับเครดิตยังถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ EPC ในต่างประเทศแม้ว่าจะมีข้อดีจากการกระจายความเสี่ยงของที่ตั้งโครงการก็ตาม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังถูกจำกัดโดยวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัท อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างก็ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทลดลงด้วย

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง โดยภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่าประมาณการจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทอยู่ที่ 2.38% ในปี 2557 และ 3.04% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ 5.5% ในช่วงปี 2554-2556 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานซึ่งยังไม่รวมการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทอย่างน้อยจะอยู่ที่ระดับ 19,000-24,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2558-2561 และยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5%-6% ในช่วงปี 2558-2561 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากรายได้จากโครงการ Ahlone ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี

ในช่วงปี 2558-2561 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับต่ำกว่า 1.2 เท่า สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายแล้วคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น บริษัทจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ Ahlone ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้สูงขึ้น ในขณะที่แผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์จะส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปี 2558-2561 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 7% และอัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 3 เท่าหรือสูงกว่า

บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)(TTCL)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TTCL175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ