มะเร็งปากมดลูก เพชฌฆาตร้าย ภัยเงียบใกล้ตัว รู้ทัน ป้องกันได้

จันทร์ ๑๑ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๐:๕๕
มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของหญิงไทยเป็นอันดับสองรองลงมาจากมะเร็งเต้านม พบได้ตั้งแต่ผู้หญิงอายุก่อน 30 ปี จนถึงวัยชราอายุ 80 ปี และพบมากในช่วงอายุ 35 – 50 ปี ซึ่งพบมากที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ โดยทุกๆ 2 นาที จะมีผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน ขณะที่หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 7 คนต่อวัน เป็น 14 คน ต่อวัน ซึ่งคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 100% หรือเสียชีวิตประมาณ 4,500 คน ต่อปี โดยในแต่ละปีจะมีหญิงไทยได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 9,000 รายต่อปี ซึ่งร้อยละ 40-50 จะเสียชีวิตจากโรค ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก จะตกประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยหญิงไทยส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และมักเกิดความอายความกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ ความรุนแรงของโรคก็มักอยู่ในระยะลุกลามทำให้มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดก็ควรฉีดวัคซีนร่วมด้วย

นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวในโอกาสเป็นประธานในการจัดกิจกรรม One Gift for One Life โดยสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และความร่วมมือจากสโมสรโรตารีกรุงเทพ สุวรรณภูมิ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก พร้อมแนวทางการปฏิบัติ และการดูแลอย่างถูกวิธี พร้อมส่งเสริมสุขภาพด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับน้องๆ สถานแรกรับเด็กหญิงบ้าน ธัญญพร ปทุมธานี ว่า "มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) หรือ Human papilloma virus infection โดยเชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัส โดยการสัมผัสที่หมายถึงนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็คือ เพศสัมพันธ์ ผิวหนังหรือเยื่อบุอวัยวะเพศ หรือปากมดลูก เมื่อมีรอยถลอกหรือแผลจะทำให้เชื้อเข้าไปได้ เชื้อเอชพีวีมีอยู่ร้อยกว่าสายพันธุ์ แต่ชนิดที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกนอกจากนี้อีก 2 สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือสายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 90 ของโรคหูดหงอนไก่ โดยระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งนั้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี แต่อาจเร็ว หรือ ช้ากว่านี้ได้ และแม้ว่าในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก จะเป็นเพียงมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำร่วมกับการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนเอชพีวีในปัจจุบันนั้นจะมีประโยชน์สูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกเมื่อฉีดก่อนได้รับเชื้อเอชพีวี หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เป็นโรคแล้วแม้วัคซีนจะไม่สามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้ แต่ยังมีประโยชน์ในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ดังนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังต้องตรวจ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอต่อไป"

ด้าน ผศ.พญ. สุทธิดา อินทรบุหรั่น สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อเอชพีวี ว่า "การติดเชื้อเอชพีวีสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งหญิงและชาย และจากงานวิจัยพบว่าสามารถพบเชื้อนี้ได้ในที่อับชื้น เช่น ด้ามกดชักโครก ที่รองนั่ง ก๊อกน้ำในที่สาธารณะ (ห้องน้ำห้างสรรพสินค้า, โรงเรียน, สถานบันเทิง เป็นต้น) แต่สาเหตุหลักของการติดเชื้อคือ การมีเพศสัมพันธ์ หลังจากได้รับเชื้อเอชพีวีในสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกแล้วต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน, การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย, มีการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรหลายครั้ง, มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน, การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ, การสูบบุหรี่หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่, ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และสตรีที่ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน โดยในระยะเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากเป็นมากแล้วในระยะหลังๆ จะสังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนภัยของมะเร็งปากมดลูกได้จากการตกเลือดทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการ โดยเลือดที่ออกจะมีลักษณะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีรอบประจำเดือน, เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์, มีน้ำออกปนเลือด, ตกขาวปนเลือด และเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน สำหรับอาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะมีอาการ ขาบวม, ปวดหลังรุนแรง, ปวดก้นกบและต้นขา, ปัสสาวะเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระเป็นเลือด โดยการลุกลามของมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม ซึ่งระยะนี้เซลล์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุผิวปากมดลูก ยังไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อปากมดลูก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเลย แต่จะตรวจพบได้จากการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือการตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูก หรือการตรวจคัดกรองที่เรียกว่าการตรวจแป๊ปสเมียร์ สำหรับระยะลุกลามแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่ภายในปากมดลูก ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก หรือผนังช่องคลอดส่วนบน ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างของเชิงกราน หรือผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ และระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ลำไส้หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก และต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน เป็นต้น"

"การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันทำได้หลายวิธี ทั้งการตรวจภายในพบก้อนมะเร็ง, พบผลผิดปกติของเซลล์วิทยา หรือ แป๊ปสเมียร์ และได้ขลิบชื้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาภายใต้การส่องกล้องขยายดูปากมดลูกหรือคอลโปสโคป สำหรับแนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้นขึ้นอยู่กับระยะและอาการของมะเร็งปากมดลูกมีทั้งการผ่าตัด ซึ่งถ้ามะเร็งอยู่เฉพาะปากมดลูกอาจจะตัดแค่บริเวณปากมดลูก แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายมากแพทย์อาจจะตัดมดลูก ท่อรังไข่ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง การให้รังสีรักษา การให้เคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งการรักษาต่างก็ให้ผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป สำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้หลายวิธี โดยแบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับปฐมภูมิหรือระดับตัดต้นตอ คือ การป้องกันไม่ให้ปากมดลูกติดเชื้อเอชพีวี รวมถึงการลดความเสี่ยงต่างๆ และการฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine) เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส โดยสามารถฉีดวัคซีนได้ในช่วง 2 อายุ คือ 9 – 13 ปี และ 13 ปีขึ้นไป 2) ระดับทุติยภูมิหรือระดับตรวจคัดกรอง คือ การตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณปากมดลูกเพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก การป้องกันในระดับนี้มีหลายวิธีเช่นกัน ซึ่งการตรวจคัดกรองนี้สำหรับผู้หญิงไทยแล้วถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก เพื่อค้นหาความผิดปกติในระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก 3)ระดับตติยภูมิหรือระดับของการรักษาหลังจากเป็นโรคแล้ว ซึ่งจะเกิดผลกระทบทั้งทางร่ายกายและจิตใจตามมา"

"มะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาและป้องกันได้ เพียงดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หญิงไทยควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกๆ 2-3 ปี เพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก รวมถึงการฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการฉีดวัคซีนควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อเอชพีวี"

อนึ่งโครงการ "One Gift for One Life" เป็นอีกหนึ่งในภารกิจของสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยที่ดำเนินการขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และสร้างความตระหนักให้หญิงไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการเข้ารับการคัดกรองเป็นประจำทุกปี หรือการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version