นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า หม่อนเป็นพืชยืนต้น และใบหม่อนก็เป็นอาหารหลักอันวิเศษที่สุดชนิดเดียวของหนอนไหมบ้าน ซึ่งการผลิตใบหม่อนนั้นมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าปัจจัยการผลิตอื่น ๆ โดยต้นทุนการผลิตรังไหม ประมาณ 60 – 70 % ของเกษตรกรมาจากการผลิต ใบหม่อน ด้วยเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเกษตรอาศัยน้ำฝน ซึ่งเกษตรกรมีฐานะยากจน โอกาสที่จะเพิ่มต้นทุนปัจจัยการผลิตใบหม่อนเพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพ ใบหม่อนต่อหน่วยพื้นที่ให้สูงขึ้น จึงมีความเป็นไปได้น้อย
ที่สำคัญในบางพื้นที่ที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศ ไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ในเขตจังหวัดน่าน และภาคใต้ในเขตจังหวัดชุมพร พบปัญหาการระบาดของโรคราสนิมอย่างรุนแรง ซึ่งจะพบมากในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับฝนและลม ใบหม่อนที่แสดงอาการของโรคนี้จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีเหลือง หรือสีน้ำตาลปนแดง และบวมขึ้นเป็นตุ่มแผลใหญ่ขึ้น เมื่อเนื้อเยื่อใบหม่อนถูกทำลายและแตกออกจะเห็นสปอร์ของเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลปนแดงคล้ายสนิมอยู่บนตุ่มแผล กระจัดกระจายทั่วไปด้านใต้ใบ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบหม่อนมีสีเหลืองทั้งใบและแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น ซึ่งใบหม่อนที่แสดงอาการรุนแรงจะมีคุณภาพต่ำไม่เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงไหมจนไม่สามารถนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมได้ ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการผลิตใบหม่อนในเขตเกษตรอาศัยน้ำฝนในเขตที่มีการระบาดของโรคราสนิมอย่างรุนแรงก็คือ การสร้างพันธุ์หม่อนที่ให้ผลผลิตใบต่อหน่วยพื้นที่สูง และมีความทนทานต่อโรคราสนิม
ที่ผ่านมานั้น กรมหม่อนไหมได้กำหนดหม่อนพันธุ์รับรองแนะนำให้เกษตรกรปลูก ได้แก่ พันธุ์นครราชสีมา 60 และพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ซึ่งถึงแม้จะให้ผลผลิตใบต่อไร่สูง แต่หม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60 เกษตรกรไม่นิยม เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ยาก ส่วนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นั้นขยายพันธุ์ได้ง่าย แต่อ่อนแอ มีความต้านทานโรคราสนิมต่ำ และไม่เหมาะกับเขตเกษตรอาศัยน้ำฝน ส่วนหม่อนพันธุ์แนะนำอีก 3 พันธุ์ คือ พันธุ์บุรีรัมย์ 51 พันธุ์ศรีสะเกษ 33 และพันธุ์สกลนคร นั้น พันธุ์บุรีรัมย์ 51 ค่อนข้างทนแล้ง แต่ใบค่อนข้างบาง พันธุ์ศรีสะเกษ 33 ขยายพันธุ์ได้ยาก เกษตรกรจึงไม่นิยม ส่วนพันธุ์สกลนครให้ผลผลิตใบต่อไร่สูง เจริญเติบโตเร็ว แต่ยังมีความทนทานต่อโรคราสนิมไม่มากนัก
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า จากเหตุดังกล่าว กรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ศรีสะเกษ จึงได้คิดค้นปรับปรุงพันธุ์หม่อน ให้มีผลผลิตใบต่อไร่สูงในเขตอาศัยน้ำฝน และมีความทนทานต่อโรคราสนิม ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็น พันธุ์หม่อนที่ใช้เลี้ยงไหมได้ดีด้วย นั่นก็คือ หม่อนพันธุ์ SRCM 9105 – 46 เป็นพันธุ์หม่อนลูกผสม เกิดจากการผสมเกสร ระหว่างหม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60 กับหม่อนพันธุ์ SKS S.1.91 ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบผลผลิตใบเบื้องต้น เปรียบเทียบผลผลิตใบในท้องถิ่นต่าง ๆ และทดสอบผลผลิตใบในภาคเกษตรกร ทดสอบคุณค่าทางอาหารในใบหม่อนโดยการเลี้ยงไหม วิเคราะห์คุณค่าทางอาหารในใบหม่อน ทดสอบความทนทานต่อโรคราสนิม ตลอดจนทดสอบการแตกรากจากท่อนพันธุ์ จนได้พันธุ์ SRCM 9105 – 46 ที่ให้ผลผลิตใบสูง ทนทานต่อโรคราสนิม และท่อนพันธุ์แตกรากค่อนข้างดี
" หม่อนพันธุ์ SRCM 9105 – 46 มีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตใบสูงกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ในพื้นที่ ของเกษตรกรในเขตอาศัยน้ำฝน เฉลี่ย 63.00 % มีความทนทานต่อโรคราสนิมได้ดีกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 เฉลี่ย 18.88% และยังคงนำไปเลี้ยงไหมได้ดีไม่แตกต่างจากพันธุ์บุรีรัมย์ 60 จึงเป็นพันธุ์หม่อนที่กรมหม่อนไหมแนะนำให้ใช้ปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิม ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้" อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว
สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ หม่อนพันธุ์ SRCM 9105 – 46 ดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมหม่อนไหม โทรศัพท์ 0-2558-7924 – 6 ต่อ 401- 405, 408