นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (AEC) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินหยวนของจีนยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกหลายครั้งในปี 2559 ซึ่งเห็นได้จากค่าเงินหยวนในตลาดล่วงหน้ามีการอ่อนค่าไปที่ 6.8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ (อ่อนค่า 3.7% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มการอ่อนค่าเงินหยวน ออกเป็น 2 กรณี คือ กรณี Base Scenario (ให้น้ำหนัก 60%) มีโอกาสอ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 6.8-7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 และกรณีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนต่ำกว่าที่คาดมาก (High Capital Outflow) (ให้น้ำหนัก 40%) ค่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 7-8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงตลาดมีความเสี่ยงสภาพคล่องคือ ค่าเงินเยน (USDJPY) และทองคำ ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนในช่วงที่จีนมีการประกาศลดค่าเงิน ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในทุกๆ ไตรมาสของปี 2559
"ภาพของการลงทุนตลาดหุ้นไทยในปีนี้ จำเป็นต้องมีการวางแผนในการถือเงินสด เพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินหยวน แต่เรายังสามารถเลือกลงทุนในบริษัท หรืออุตสาหกรรมที่มีโอกาสฟื้นตัวเด่นกว่าตลาดได้ แนะนำลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเชิงคุณภาพ 3 ประการ ได้แก่ อุตสาหกรรมภาคบริการยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งเหนือกว่าภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่เราสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ มีแผนขยายการลงทุนออกนอกประเทศ ซึ่งมีความเข้มแข็งของกำลังซื้อที่สูงกว่า และสินค้าในอุตสาหกรรมต้องอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็นซึ่ง ไม่ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นอย่างไรก็ยังต้องใช้"นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ได้แก่ อุตสาหกรรมในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม โรงพยาบาล และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ BDMS, CENTEL, BJC, AOT, IRPC ส่วนอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาฯ (ที่อยู่อาศัย,นิคมอุตสาหกรรม, และกลุ่มรับเหมาฯวิศวกรรม) และกลุ่มเกษตร
"ภาคเอกชนของจีนมีความเสี่ยงเรื่องภาระหนี้สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน จากข้อมูล BIS เราพบว่าภาคเอกชนจีนมีภาระหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มสูง 1-1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (China Carry Trade) โดยมีสาเหตุสำคัญที่เกิดจากจากการที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐฯที่ต่างกันถึง 4% และมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการควบคุมสูง (Manage Fix Currency Policy) การหดตัวของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุนสำรองของจีนมีการปรับลดจากระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา" นายเกรียงไกรกล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ สภาพคล่องโลกมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการทำตราสารอนุพันธ์ซับซ้อน (Structure notes) ปัจจุบันเรามีการคาดการณ์ว่า มูลค่าของการทำธุรกรรม Structure notes อยู่ที่ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การอ่อนค่าของ USDCNY ทุกๆ 3% จะส่งผลต่อผลขาดทุนที่ระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสภาพคล่องโลก