นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมกราคม 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.45 จุด สู่ระดับ 55.51 จุด โดยดัชนีกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 จุดครั้งแรกในรอบสามเดือน ซึ่งสะท้อนทัศนคติต่อราคาทองคำเชิงบวก สอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มผู้ลงทุน โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าในช่วงต้นปีราคาทองคำน่าจะฟื้นตัวได้จากแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นที่เรียบร้อย ประกอบกับการอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมา
ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่าสัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนมกราคม 2559 ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูงคือมีสัดส่วนกว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 12.28 จุดมาอยู่ที่ระดับ 62.43 จุด กลับมาสะท้อนมุมมองเชิงบวกเช่นเดียวกัน
บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนมกราคม 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อนสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ โดยมีผู้ค้า 6 รายมองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 3 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนธันวาคม และไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม
โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,020-1,040 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 17,500-18,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ