ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร นำโดยนายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร และนางสมศรี วิมลจันทร์ เลขาธิการสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสมาชิกทั้ง 50 เขต ได้เข้าพบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความรู้และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย ในฐานะที่สำนักงานคปภ.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย โดยสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคได้แสดงจุดยืนที่จะให้การสนับสนุนการทำงานของสำนักงาน คปภ. และพร้อมที่จะร่วมเป็นเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยนั้น นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีระหว่างสำนักงาน คปภ. กับเครือข่ายภาคประชาชนที่จะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งต่อไป
จากการที่ธุรกิจประกันภัยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม สำนักงาน คปภ. จึงร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมในการนำระบบระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการเชื่อมระบบ IT เข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและหากได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนอีกแรงหนึ่งก็จะทำให้การคุ้มครองประชาชนด้านการประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเดินหน้าตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 และแผนกลยุทธ์องค์กรในการเสริมสร้างความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชนและพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ขอขอบคุณสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของระบบประกันภัยที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น และร่วมเป็นเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยให้กับสมาชิกและประชาชนต่อไป
เลขาธิการ คปภ.กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่มีโฆษณาทางโทรทัศน์ของบริษัทประกันชีวิต ที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างการประกันชีวิตแบบทั่วไปกับการประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุนั้น สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องปรามปัญหาที่ตรงจุดอย่างเป็นระบบ โดยร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดแนวทางการโฆษณาขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านสื่อโทรทัศน์ เพื่อให้ข้อความที่ใช้โฆษณามีความชัดเจนและไม่สับสน รวมทั้งร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยจัดทำ "คู่มือประชาชน" ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตแก่ประชาชน โดยให้บริษัทประกันชีวิตควบคุมคุณภาพและจริยธรรมของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย อย่างเป็นระบบตั้งแต่กระบวนการคัดกรองตัวแทน/นายหน้า ฝึกอบรมให้ความรู้ รวมถึงติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สำนักงาน คปภ.จะให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันพึ่งมีพึ่งได้ของผู้บริโภคจากการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันวินาศภัยอย่างจริงจัง และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th