CAC: ผู้นำธุรกิจมองปัญหาทุจริตรุนแรงลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อังคาร ๑๒ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๗:๐๗
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เปิดเผยผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในช่วงปลายปี 2558 ว่า 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ลดลงต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียง 24% ที่มองว่าปัญหารุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม 90% ยังเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึงสูงมาก

จากการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเอกชนจำนวน 828 คนในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2558 พบว่า 44% ของผู้ตอบเชื่อมั่นสูงถึงสูงมากว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในอนาคต เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 35% ในการศึกษาครั้งก่อนในปี 2556 และมีเพียง 12% ของผู้ตอบที่เห็นว่าการทุจริตทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยเป็นสัดส่วนที่ลดลงอย่างมากจากการศึกษาเมื่อปี 2556 ที่ 52% ของผู้ตอบเห็นว่าการทุจริตทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ซึ่งชี้ว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเกิดการทุจริต กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจมีความเห็นว่า กระบวนการด้านการขอจดทะเบียนธุรกิจ ทะเบียนการค้า และการจัดตั้งบริษัทมีการปรับปรุงดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (20%) รองลงมาคือ กระบวนการทางภาษี/สรรพากร (14%) และการจดทะเบียนและขออนุญาตต่างๆ ทางธุรกิจ (11%) โดยกลยุทธ์การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันที่กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันในระดับมหภาค (32%) รองลงมาคือ การประกาศรายชื่อและย้ายข้าราชการที่พัวพันการทุจริต (11%)

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ผู้นำธุรกิจและกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและมีความตื่นตัวกับบทบาทของภาคเอกชนในการต่อต้านทุจริตมากขึ้น โดย 85% เห็นพ้องกันว่าภาคเอกชนมีบทบาทสูงถึงสูงมากในการลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 72% ในการศึกษาเมื่อปี 2556 ในขณะที่ 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงเจตนาที่จะให้ความร่วมมือในการต่อต้านทุจริตอย่างแน่นอน และอีก 33% พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หากมีแผนงานที่ดำเนินการได้

รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันที่เชื่อว่าเกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของตน (18%) การให้ของขวัญหรือการติดสินบน (16%) และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (15%) ส่วนกระบวนการที่ถูกมองว่ามีโอกาสเกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐและการจัดการประมูลโครงการของภาครัฐ (28%) รองลงมาคือ การจดทะเบียนและขอใบอนุญาตต่างๆ (18%) ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับการทุจริตสูงที่สุดได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (13%) กลุ่มสาธารณูปโภค (12%) กลุ่มพลังงาน (12%) กลุ่มก่อสร้าง (11%) และกลุ่มโทรคมนาคม (10%)

ทั้งนี้ หากสามารถขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทยได้ 79% เห็นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างน้อยอีก 10% โดยผลประโยชน์ที่ภาคธุรกิจคาดว่าจะได้รับ ได้แก่ ต้นทุนทางธุรกิจที่ต่ำลง (27%) มีโอกาสในการแข่งขันในตลาดและสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น (19%) และมีการแข่งขันด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากขึ้น (16%)

สำหรับสิ่งที่กรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อทั้งผู้ให้ และผู้รับสินบน (25%) การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ (16%) การสร้างจิตสำนึกของประชาชนว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ (9%) การสนับสนุนให้เครือข่ายภาคธุรกิจ/ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน (8%) ส่วนสิ่งที่อยากเห็นภาคเอกชนดำเนินการมากที่สุด คือ การกำหนดนโยบายในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ (35%) การรวมตัวของหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดแนวทางในการต่อต้านการทุจริต (19%) การสร้างระบบบริหารจัดการ/ระบบการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ (13%)

"ผลการศึกษารอบล่าสุดนี้ชี้ว่าเราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ความก้าวหน้าเริ่มมีบ้าง แต่ปัญหายังเป็นปัญหาใหญ่ที่ 90% มองว่ายังอยู่ในระดับที่สูงและสูงมาก จำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องสร้างเครือข่ายแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตให้เข้มแข็งและมีพลังมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และน่ายินดีว่านักธุรกิจให้การยอมรับมากขึ้นว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ดังนั้นในระยะต่อไป เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันการแก้ไขให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง" ดร. บัณฑิต กล่าว

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชนด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT

โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC เพิ่มเติมได้ที่ , www.thai-cac.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version