วันนี้ (13 มกราคม 59) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจติดตามการกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด และแหล่งบูรพา ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด โดยมี นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) และนายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายฐานุพงศ์ เจริญสุรภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังจากการตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด และ แหล่งบูรพา ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด ว่า ปัจจุบันการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย มีการดำเนินการที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันของชุมชนเป็นสำคัญ โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ควบคุมและกำกับดูแล ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด สำหรับแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ นอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียมที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมากระบวนการผลิตปิโตรเลียมจำเป็นต้องมีการเผาก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันดิบ เนื่องจากมีปริมาณน้อยและไม่คุ้มค่าการลงทุนในเชิงพาณิชย์ แต่ในพื้นที่แหล่งสิริกิติ์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ร่วมกับบริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซธรรมชาติดังกล่าวไปใช้ประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่แทนการเผาทิ้ง โดยนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองตูมเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซ LPG สนับสนุนกิจการสินค้า OTOP คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ กล้วยฉาบ กล้วยทอด มันทอด เผือกทอด เป็นต้น
กิจกรรมวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองตูมสามารถสร้างอาชีพเสริมและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และลดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนหลักให้กับชาวบ้านได้ปีละ 72 ล้านบาท ประการที่สำคัญยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละกว่า 5,000 ตัน ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับมติที่ประชุม COP 21 ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปลายปี 2558 ที่ได้มีการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกคำนึงถึงสภาวะโลกร้อน ตลอดจนเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างคุ้มค่า และเป็นบทพิสูจน์การอยู่ร่วมกันอย่างไร้ปัญหาของชุมชนกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างเป็นรูปธรรม
"ปัจจุบันการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย มีการดำเนินการที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล มุ่งเน้นความปลอดภัย การใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างคุ้มค่า และการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) หนึ่งในแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวที่กระทรวงพลังงานเริ่มผลักดันให้เป็นรูปธรรม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ แหล่งสิริกิติ์ มีขนาดพื้นที่จำนวน 1,328 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่สำรวจจำนวน 1,039 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ผลิตประมาณ 817 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก และสุโขทัย ปัจจุบันดำเนินการผลิตมาแล้วกว่า 30 ปี มีปริมาณการผลิตในปี 2558 ดังนี้ น้ำมันดิบจำนวน 28,000 - 30,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติจำนวน 40 - 50 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และก๊าซ LPG จำนวน 240 - 250 ตัน/วัน
แหล่งน้ำมันสิริกิติ์มีปริมาณสำรองเพื่อรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศในส่วนของน้ำมันดิบอีกประมาณ 54.57 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติประมาณ 1.23 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับภาคพลังงานของประเทศมายาวนาน และจะยังสร้างความมั่นคงต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นอกเหนือจากเป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกที่สำคัญของประเทศแล้ว ยังมีก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบที่นำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าลานกระบือ ประดู่เฒ่า เสาเถียร การผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานพาหนะ(NGV) เป็นต้น
ในโอกาสเดียวกันนี้ พลเอก อนันตพร ยังได้ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจติดตามการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบริเวณแหล่งบูรพา ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด ซึ่งเป็นแหล่งที่เปิดให้สิทธิสำรวจในรอบที่ 18 และเป็นแหล่งสัมปทานขนาดเล็กๆ เช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมส่วนใหญ่ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าแหล่งบูรพาจะเป็นเพียงแหล่งผลิตขนาดเล็ก แต่ก็มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล คำนึงถึงความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรการที่กระทรวงพลังงานกำหนด ตลอดจนคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนและประเทศชาติเป็นหลักเช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่